‘หมอธีระวัฒน์’ เผยสธ.จ่อฟ้องกลับ ‘แกนนำแม่กลอง’ ชี้ ถอดมติเปลี่ยนผลแบนสารเคมีไม่ได้

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข โพาสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีที่ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จะยื่นถอดถอนมติสาธารณสุข/2560 โดยอ้างว่าเป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารเคมีเกษตรนั้น​ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อมูลหลักฐานที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ และชี้ชัดว่าการใช้สารเคมีดังกล่าวส่งผลกต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีตัวเลขของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืชยืนยันชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติแบน 3 สารพิษครั้งนี้ก็เป็นชุดเดียวกับที่พิจารณาเมื่อปี 2561 ซึ่งมีมติไม่ยกเลิกสารพิษดังกล่าว เมื่อได้รับทราบข้อมูลครบถ้วนจึงมีมติยกเลิก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ได้พิจารณาด้วยความอคติ และการพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องสารเคมีอื่นที่จะใช้ทดแทน จึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่เกรงกัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ต้องถามว่าคนที่เรียกร้องให้ถอดมติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นใคร มีความรู้ทางการแพทย์หรือไม่ ไปเขียนในเพจว่ากระทรวงสาธารณสุข​ มโนว่ามีคนเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษ เท่ากับดูหมิ่นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมาหมอและพยาบาลพบเห็นการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการใช้ยาฆ่าหญ้ามานับสิบปี ครั้งนี้จึงมีการขึ้นป้ายแบนสารพิษการเกษตรไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าหากใช้ยากำจัดศัตรูพืชมูลค่า 10,000 ล้านบาท รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยถึง 7,600 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ล้วนมาจากภาษีประชาชน” นายแพทย์​ ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า มีรายงานข่าวว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมที่จะแจ้งความดำเนินกับ นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กรณีที่นำเครื่องหมายราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการราชบุรีประชารัฐ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก” โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง จะมีการตรวจสอบกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการแอบอ้างชื่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าแผ่นป้ายที่ใช้ประชาสัมพันธ์ในงานสัมมนาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ชื่อและสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ยังปรากฏชื่อ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด และ บริษัท ดาว อโกร ไซน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืช เช่น พาราควอต ด้วย อีกทั้ง โครงการราชบุรีประชารัฐฯยังถูกระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบของการผลิตผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมี มีการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและการตกค้างในผลผลิต เพื่อยืนยันว่า คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ไม่ส่งผลกระทบด้านลบหรือก่อให้เกิดสารพิษตกค้างตามที่เป็นข่าว ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการแบน 3 สารพิษการเกษตรของนางสาวอัญชุลีตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นจะมีบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image