สรส.จี้รัฐบาลเร่งแก้ปม ‘จีเอสพี’ ให้ตรงจุด ชี้แรงงานยังไม่ได้รับการดูแลตามหลักสากล

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการ กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี (GSP) กับสินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่าไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากล โดยเรียกร้องทุกฝ่ายไม่ให้ตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว แต่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า สิทธิจีเอสพีถือเป็นการให้ฝ่ายเดียว โดยประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพีนั้น ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่การให้สิทธิจีเอสพีนั้นเป็นการให้แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ประเทศผู้รับจะต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนด เช่น ในกรณีของสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ จะมอบให้กับประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือจีเอ็นพี (GNP) ไม่เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น  โดยล่าสุดในปี 2018 ไทยอยู่ที่ประมาณ 7,200 เหรียญสหรัฐ จึงยังเข้าเงื่อนไขรับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ นอกจากนี้ สำหรับการรับสิทธิจากสหรัฐ ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ กำหนดไว้อีก เช่น จะต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ มีการคุ้มครองแรงงานในระดับที่นานาชาติยอมรับ มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล รวมถึงหากเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายสากลจะต้องเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐเคยส่งสัญญาณและเตือนไทยเกี่ยวกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ และจัดลำดับให้ประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ตกชั้นไปอยู่ในระดับ Tier 3 ในปี 2559 เป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต่อมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 ขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ในปี 2560 และในปี 2561 เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 หลังจากไทยได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างจริงจัง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิอันเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู (IUU Fishing) การขึ้นทะเบียนแรงงานและเรือประมง มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย ครอบคลุมและตรงต่อการแก้ปัญหามีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ดำเนินคดีการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดระยะเวลาดำเนินคดีจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ

เช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ได้ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย หรือ ไอยูยู IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และคนงานภาคการประมงไร้สิทธิการคุ้มครองทางกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อียูกำหนดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (possibility of identifying as non-cooperating country) ภายใต้กฎระเบียบไอยูยูของอียู ซึ่งใบเหลืองถือเป็นเพียงการประกาศเตือนในเบื้องต้น แต่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาและแก้ไขปรับปรุงได้ แต่หลังจากประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังทั้งเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ามนุษย์ จนในที่สุดสหภาพยุโรปก็ยกเลิกการให้ใบเหลืองกับไทย กลับสู่ภาวะปกติ

Advertisement

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่สหรัฐประกาศยกเลิกจีเอสพีก็อย่าตระหนก สิ่งที่สำคัญคือ ต้องใช้สติ ใช้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากภาคีหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน การที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากสหรัฐและกระทรวงพาณิชย์ของไทยแล้วว่า เกี่ยวข้องกับประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นอื่น จึงไม่ควรนำไปผูกโยงจนเกิดความไขว้เขว เพราะจะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกทาง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

“ต้องยอมรับความจริง การที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย เพราะมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ เพราะกระบวนการข่าวกรองของเขาลึกล้ำ เมื่อเราต้องการค้าขายกับเขา และเขาเป็นเจ้าของตลาด จึงจำเป็นต้องแก้ไขจุดบกพร่องเพื่อได้สิทธินั้นกลับคืนมา และความจริงอีกประการหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ สถานการณ์แรงงานในไทย อยู่ในสภาวะที่น่าห่วงใย ทั้งเรื่องสิทธิ โอกาส คุณภาพชีวิต และความมั่นคงในการทำงาน กล่าวคือ ประชากรในวัยทำงานในขณะนี้ประมาณ 40 ล้านคน แต่มีสถานะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 600,000 คน เท่านั้น เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการรวมตัว ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับที่จำแนกแยกคนงานออกจากกันทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน คนทำงานบ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีการทำลายผู้นำแรงงาน ทำลายสหภาพแรงงาน เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 13 คน ที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างมั่นใจ ปลอดภัย เมื่อปี 2552

กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ที่ถูกบริษัทกล่าวหาทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 326 ล้านบาท กรณีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ที่บริษัทสั่งปิดงาน เลิกจ้างแกนนำสหภาพเพียงเพราะสหภาพได้พยายามทำหน้าที่ยื่นข้อเรียกร้องปกป้องสิทธิให้แก่สมาชิก เป็นต้น ในส่วนข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาได้ ดังที่เห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้กรณีลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมารายวันนอกงบประมาณในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงาน แม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่น้อย ก็ยังถูกกีดกัน ถูกเอาเปรียบ และไม่สามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้ ซึ่งโดยหลักการทางสากลสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล และหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ (ไอแอลโอ) โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการสมาคม รวมกลุ่ม และฉบับที่ 98 ว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่รับรอง

Advertisement

ในเรื่องโอกาสและคุณภาพชีวิต คนงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขการทำงาน การจ้างงาน เป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานภาคบริการ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน คนงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง นักศึกษาฝึกงาน การจ้างงานแยกย่อยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนงานไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ แม้บางส่วนจะเข้าถึงได้แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากด้วยเงื่อนไขที่มากมาย ซ้ำค่าจ้างที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานก็ต่ำไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นไปตามหลักกติกาสากล จนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

ส่วนเรื่องความมั่นคงในการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ล้วนแต่มีการจ้างงานตามสัญญาจ้าง ระยะสั้น หลากหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาที่ได้แพร่ระบาด ทั้งในภาครัฐ เอกชน คนงานหวาดผวากับความเสี่ยงในเรื่องการตกงาน ว่างงาน เกิดภาวะหนี้สินทั้งส่วนตัวและครัวเรือนสูง เป็นเหตุให้ความเหลื่อมล้ำในทุกด้านสูงเป็นลำดับต้นของโลก คนงานไม่สามารถวางแผนชีวิตอนาคตในการสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นคงให้ตนเองและครอบครัวได้ ยิ่งในยุคการจ้างงานที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี แขนกล หุ่นยนต์ ระบบ Automation ระบบ AI ที่จะมาทำงานแทนคน ในขณะที่มาตรการรองรับทางสังคมแทบจะไม่มี

อย่าพยายามบิดเบือนประเด็นให้บิดเบี้ยว แต่ควรต้องเร่งแก้ไข เพราะเขาให้เวลา 6 เดือน ที่ประกาศออกมาเป็นเพียงสัญญาณเตือน เว้นไว้แต่ว่าเราไม่ต้องการค้าขายกับเขา เราก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายุโรปและทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยสหประชาชาติได้กำหนดแนวทางการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable-Development-Goals-SDGs) 17 ด้าน ได้กำหนดเรื่องธุรกิจการค้าทุกระดับต้องยึดถือเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิแรงงานเป็นสำคัญ และได้กำหนดงานที่มีคุณค่าไว้ใน SDGs ลำดับที่ 8 แม้กระทั่งล่าสุดอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 190 ว่าด้วย การขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน ที่ออกในวาระครบรอบ 100 ปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการ Future of Works ก็ล้วนบัญญัติในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนที่ไปผูกโยงเรื่องการค้าทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เรื่องให้สิทธิจีเอสพีมิได้มีเพียงประเทศเดียว ยังมีประเทศอื่นที่ให้สิทธิแก่ไทย เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหภาพยุโรป ตุรกี แคนาดา รวมไปถึงรัสเซีย และเครือรัฐเอกราช

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image