“ไบโอไทย” ลั่นทบทวน “ไกลโฟเซต” ไม่ใช่หน้าที่คกก.วัตถุอันตราย ปล่อยสธ.ตั้งกติกาคุมสารตกค้าง

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BioThai) กล่าวถึงกรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีแผนจะหยิบยกเรื่องการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารไกลโฟเซตมาทบทวนในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในครั้งหน้า เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐอเมริกายังใช้สารตัวนี้ ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะต้องหารือกัน โดยเฉพาะ สธ.ที่จะต้องพิจารณาออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดเปอร์เซ็นต์สารปนเปื้อนตกค้างในสินค้าอาหารหรือสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สอดคล้องกับการประกาศยกเลิกใช้ 3 สารเคมี คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

“สำหรับค่าค่าปริมาณสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหารหรือสินค้าเกษตร ในสหรัฐนั้นเรียกว่า Important Tolerance ส่วนในสหภาพยูโรป และประเทศไทย เรียกว่า ค่าปริมาณสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างสูงสุด หรือ Maximum Residue limit (MRL) ขณะนี้ของประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดว่าควรจะให้มีสารตกค้างในสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรได้ไม่เกินเท่าใดที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ สธ.ที่จะต้องพิจารณา และกำหนดออกมาเป็นมาตรฐาน ที่สำคัญการพิจารณานั้นจะต้องมีการนำกฎขององค์การค้าโลก (WTO) มาประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในภายหลังจากออกประกาศ” นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า เรื่องนี้ ควรให้เวลากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาออกมาตรการ เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นหลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ดังนั้น เรื่องนี้ขอให้ทุกฝ่ายแยกแยะให้ชัดเจนด้วย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนยังติดใจคือ เมื่อมีการออกมติยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้ว ในขั้นตอนต่อไปนั้น ประเทศไทยจะต้องยื่นเอกสารแจ้งเตือน (Notification) ไปยังองค์การค้าโลกตามความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitay Measures-SPS) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าไม่ให้เกิดโทษต่อชีวิต และหรือผลเสียต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์ โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีการยื่นเอกสารแล้วหรือไม่ และหน่วยงานใดจะเป็นฝ่ายดำเนินการยื่นเอกสารดังกล่าว

Advertisement

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เพจเฟซบุ๊กของไบโอไทย ยังได้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้ออ้างในการให้ทบทวนสารไกลโฟเซตว่า การอ้างไกลโฟเซตไม่ก่อโรคมะเร็ง เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยทบทวนการยกเลิกใช้สารดังกล่าว ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

“พวกเขาจะอ้างเหตุว่าไกลโฟเซตไม่ก่อมะเร็ง เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยทบทวนการแบน? กราฟของบลูมเบอร์กแสดงให้เห็นมูลค่าหุ้นของไบเออร์-มอนซานโต้ที่ลดลงต่อเนื่อง หลังจากศาลสหรัฐมีคำพิพากษาให้บริษัทแพ้คดีต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ใน 3 คดีที่เป็นมะเร็งจากการใช้ราวด์อั๊พ นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนของสองประเทศกับบรรษัทยักษ์ใหญ่และบริวารที่ปล่อยให้มีการแสวงหาผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” เพจไบโอไทย ระบุ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image