‘ไบโอไทย’ โพสต์ย้ำอีกครั้ง ‘สุริยะ’ แสดงออกไม่เหมาะสมทบทวนแบน ‘ไกลโฟเซต’

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีแนวคิดจะเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อทบทวนการยกเลิกใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารกำจัดศัตรูพืชที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ว่าล่าสุดเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BioThai) ได้โพสต์ข้อความว่าการแสดงบทบาทของนายสุริยะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า

“หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนไกลโฟเซตและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ อีก 2 ชนิด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และมีจดหมายจาก นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ (Ted Mckinly) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เพื่อขอให้รัฐบาลไทยเลื่อนการแบนไกลโฟเซตออกไปก่อน โดยชี้ว่าการแบนไกลโฟเซตของไทยจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีของสหรัฐนั้น

ไบโอไทยเห็นว่า บทบาทของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รับลูกข้อเสนอของสหรัฐ และเรียกร้องให้มีการทบทวนการแบนไกลโฟเซตนั้น เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลดังนี้

1.สาระสำคัญของจดหมายจากกระทรวงเกษตรสหรัฐคือการปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออกถั่วเหลือง และข้าวสาลีมายังประเทศไทยโดยประโยคสำคัญในจดหมายของแมคคินนีย์คือการเรียกร้องให้ประเทศไทยคงระดับค่าการตกค้าง (MRL หรือ Tolerance) ของไกลโฟเซตในระดับที่กำหนดอยู่ในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของสหรัฐ

Advertisement

2.ในกรณีสหรัฐอเมริกา เมื่อสหรัฐแบนสารพิษชนิดใด จะยกเลิกค่าการตกค้าง (Tolerance) ทำให้ไม่สามารถใช้สารพิษชนิดนั้นในการปลูกพืชในประเทศได้ แต่สหรัฐจะกำหนดค่า Import Tolerance สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อประโยชน์ของสหรัฐเอง เช่น เมื่อสหรัฐแบนคาร์โบฟูราน ในปี 2009 ได้ยกเว้นให้สำหรับสินค้านำเข้า 4 ประเภท ได้แก่ ข้าว กล้วย กาแฟ และน้ำตาล แต่การตกค้างต้องไม่เกินค่า MRL ที่สหรัฐกำหนด ซึ่งจะเป็นตาม CODEX หรือกำหนดขึ้นใหม่ก็ได้

ในแง่นี้การอ้างเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อส่งออกของตนเพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการแบนไกลโฟเซตจึงขัดแย้งกับแนวปฏิบัติของสหรัฐเอง

(สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ EPA นิยามความหมายของคำว่า Import Tolerances ว่าคือ ค่าการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ในสหรัฐ ซึ่งอาจตกค้างในสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปที่ผลิตจากต่างประเทศและนำเข้ามาในสหรัฐ หากการตกค้างไม่เกินระดับที่กำหนดดังกล่าว)

Advertisement

3.บทบาทในการกำหนดค่า MRL ของสินค้าเกษตรในประเทศไทย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งกำกับดูแล พ.ร.บ.อาหาร การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และอาจรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการค้า ซึ่งไม่ใช่บทบาทและความรับผิดชอบของนายสุริยะแต่อย่างใด

โดยในกรณีสินค้าใดที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ สามารถกำหนดค่า Import MRL โดยกำหนดการตกค้างในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ภายใต้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

การด่วนแสดงความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากเป็นการรับลูกของฝ่ายสหรัฐอย่างไม่เหมาะสมโดยมิได้มีการหารือกันภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเคลื่อนไหวที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายไกลโฟเซตในประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image