สบส.จ่อฟันสถานค้ากามย่านสวนพลู6 อ้าง ‘นวด-สปา’ บังหน้า เล็งเอาผิด ‘คลินิกเสริมงามย่านบางกะปิ’ ด้วย

กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บุกทลายสถานบริการ “เดอะ ปริ้นซ์” ย่านซอยสวนพลู 6 เขตสาทร ซึ่งเปิดเป็นร้านนวดและสปาบังหน้า พบว่าร้านดังกล่าวแอบแฝงบริการทางเพศ มีหมอนวดชายทั้งคนไทยและต่างด้าวให้บริการบรรดาเครือข่ายรักร่วมเพศนั้น

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อทราบข้อมูลก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประสานตำรวจในท้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559

“เบื้องต้นตรวจสอบรายชื่อร้านดังกล่าวในฐานระบบไม่พบว่ามีการขออนุญาตให้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกับ สบส. แต่กลับแอบอ้าง แขวนป้ายว่าเป็นร้านนวดและสปา ลักลอบให้บริการทางเพศ และหากดูรายละเอียดตามข่าวที่บอกว่า พนักงานมีการแต่งกายโดยสวมเพียงกางเกงในตัวเดียวนั่งในตู้กระจก เพื่อรอให้ลูกค้าเรียกไปให้บริการ คงไม่สามารถขอใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้อย่างแน่นอน เพราะไม่เข้าข่ายองค์ประกอบการเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เป็นเพียงการแอบอ้าง แขวนป้ายว่าเป็นร้านนวดและสปา บังหน้า เพื่อค้าบริการหรือให้บริการทางเพศเท่านั้น จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างน้อย 2 กระทง ตามมาตรา 41 ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และมาตรา 42 ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการที่ทางร้านจ้างผู้ให้บริการเป็นชาวต่างด้าว เพื่อให้บริการนวดนั้น ไม่สามารถทำได้” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวถึงกรณีหญิงสาวรายหนึ่งเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ หลังเข้ารับบริการคอร์สบำรุงใบหน้าและได้ครีมทาใบหน้ามาใช้ แต่เกิดอาการแพ้และมีสิวผดทั่วบริเวณใบหน้า ซึ่งเกิดจากสารต้องห้ามที่ผสมอยู่ในครีม ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าคลินิกดังกล่าวได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และให้เกิดความกระจ่างชัดเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่ สบส.จะทำการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทำการเก็บตัวอย่างยาและเครื่องสำอางของคลินิก ไปตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“หากพบว่ายา และเครื่องสำอางที่คลินิกนำมาให้บริการก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในคลินิกหรือประชาชนผู้รับบริการ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง สบส.จะมีคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการดำเนินการในขั้นต่อไป คือ สั่งปิดคลินิกเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า การเสริมความงามทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะตัว อย่างกรณีข้างต้นหากมีการนำยาและเครื่องสำอางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาให้บริการ ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ และเกิดพิษต่อร่างกาย ยิ่งเป็นผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายก็อาจจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียโฉมได้ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทุกครั้งก่อนรับบริการจะต้องตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนของสถานพยาบาล แพทย์ รวมทั้ง ตรวจสอบฉลากยาและเครื่องสำอางว่าได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับ อย. โดยสามารถตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน อาทิ ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลจากเว็บไซต์ http://hss.moph.go.th ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา https://tmc.or.th และตรวจสอบเลขทะเบียนยาและเครื่องสำอางจากเว็บไซต์ อย. http://pca.fda.moph.go.th ซึ่งสามารถรู้ผลได้ทันที ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน  สบส. โทรศัพท์ 0 2193 7057 หรือเฟซบุ๊ก: ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข หรือ อีเมล์ [email protected] และหากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ ตามวันและเวลาราชการ

Advertisement

ทพ.อาคม กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. ในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) พบว่ามีผู้ร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสิ้น 51 เรื่อง แบ่งเป็น ผู้ให้บริการเถื่อน 7 เรื่อง สปาเถื่อน 18 เรื่อง โฆษณาไม่เหมาะสม 4 เรื่อง การให้บริการ 7 เรื่อง และบริการแอบแฝง 15 เรื่อง ซึ่งได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image