แนะ “วัยรุ่น” ปรับพฤติกรรม-ควบคุมอารมณ์ลดใช้ความรุนแรง

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นในสังคมไทยที่ปรากฎผ่านทางสื่อต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกว่า “ยกพวกตีกัน” สาเหตุมาจาก 1.สาเหตุส่วนบุคคล การศึกษาพบว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยวัยรุ่นชาย ได้แก่ การมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ 2.สาเหตุที่เกิดจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน ครอบครัวเข้มงวดหรือตามใจเกินไป 3.สาเหตุที่เกิดจากเพื่อน เช่น การถูกเพื่อนชักชวนให้กระทำผิด รักเพื่อนรักสถาบัน ต้องการแก้แค้น 4.สาเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น สถานบันเทิง บนท้องถนน หรือสถานที่จัดงานตามเทศกาลต่างๆ เป็นต้น และ 5.สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การดื่มสุรา แอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด การพูดจายั่วยุดูถูก การปะทะคารมกัน ซึ่งผลของความรุนแรงในวัยรุ่นส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การบาดเจ็บและทุพพลภาพ นอกจากนี้ ยังทำให้วัยรุ่นเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต รวมทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางจิตและสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ผลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยรุ่นที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่เป็นผู้กระทำเช่นกัน รวมทั้งครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมอีกด้วย

“จึงขอแนะนำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นทุกระดับ ดังนี้ 1.ระดับบุคคลและครอบครัว การป้องกันจะต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะความรุนแรงเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สะสมมาตั้งแต่ในวัยเด็กและมาแสดงออกในวัยรุ่น การป้องกันที่ดีนั้น พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการให้ความรัก ให้เวลา ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ปลูกฝังและวางรากฐานทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก มีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว 2.ระดับโรงเรียน การป้องกันโดยการเน้นทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ วิธีจัดการกับความโกรธ การแก้ไขปัญหา และจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับพฤติกรรมและอารมณ์ ช่วยให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเชิงบวก มีสติ การเสริมทักษะชีวิต จัดให้มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ให้เด็กวัยรุ่นได้แสดงถึงศักยภาพของตัวเอง 3.ระดับชุมชนและสังคม การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย สร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับวัยรุ่น เปิดโอกาสในการปรับตัว จัดหาสิ่งที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเชิงบวก รวมทั้งให้วัยรุ่นได้มีส่วนร่วมในชุมชนด้วย และ 4.สื่อต่างๆ หากสื่อนำเสนอความรุนแรงให้เด็กวัยรุ่นเห็นจนชินชา อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้เด็กมีความก้าวร้าวรุนแรง ใช้กำลังในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้น สื่อควรมีการนำเสนอเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ สื่อสารเชิงบวก ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและต้นแบบที่ดีได้ ในส่วนของวัยรุ่นเองก็ต้องมีความรอบรู้ให้เท่าทันสื่อ สามารถวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอย่างรอบด้านและตัดสินใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่ดี เปรียบเสมือนวัคซีน สร้างภูมิต้านทานเป็นเกราะป้องกันความรุนแรงในวัยรุ่นได้ จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพในอนาคต ทั้งนี้หากพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image