วันนี้-30 พ.ย. ชวนจับตาดาวเคียงเดือนบนท้องฟ้า ดาวพฤหัสบดี-ศุกร์-เสาร์ เคียงดวงจันทร์เสี้ยว! (ชมคลิป)

เมื่อเวลา 06.00 น.วันที่ 28 พ.ย.62 นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในวันที่ 28 พ.ย.62 นี้จะปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าให้ได้เห็น คือ ดาวเคียงเดือน หรือ ดาวล้อมเดือน โดยจะเห็นได้ หลังพระอาทิตย์ตกดินติดต่อกันหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.62 จะมองเห็นบนท้องฟ้าดวงจันทร์ใกล้ดาวพฤหัสบดี หลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน พร้อมกันยังเห็นดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ และ ไล่เรียงต่อด้วย ดาวศุกร์,ดาวเสาร์ เรียงเป็นแถว ดวงจันทร์จะค่อยๆ สูงขึ้น

“สำหรับการเกิดปรากฏการณ์ ดาวเคียงเดือน หรือดาวล้อมเดือน เป็นจังหวะกลุ่มที่ดาวเคราะห์ขึ้นมาใกล้กันในระนาบเดียวกันในมุมที่มองเห็น สามารถดูได้หลายวัน มองเห็นได้นานกว่า 2 ชม. ทุกเย็นให้หันหน้าไปทางท้องฟ้าทางทิศตะวันตกทางขอบฟ้าจะเห็นสวยงาม”นายวรวิทย์กล่าว

ในช่วงค่ำวันที่ 28 – 30 พ.ย. 62 ดาวพฤหัสบดี ,ดาวศุกร์ และ ดาวเสาร์ จะเคียง ดวงจันทร์เสี้ยว ตามลำดับ มาพร้อม ปรากฏการณ์แสงโลก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงใต้ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

โดยวันแรกคือ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ข้างขึ้น 2 ค่ำ ห่างประมาณ 0.8 องศา จากนั้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 3 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏระหว่างดาวศุกร์กับดาวเสาร์ และ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏใกล้ดาวเสาร์ ห่างประมาณ 6.8 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) จนถึงวันที่ 1 ธ.ค.62 ยังคงเห็นปรากฏการณ์อยู่แต่ดวงจันทร์จะอยู่สูงขึ้นไป

Advertisement

ซึ่งดาวเคียงเดือนทั้ง 3 วัน (28-30 พ.ย.62) สังเกตได้ทางทิศตะวันตก -ตะวันตกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

และเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าใสไร้เมฆ จึงมีโอกาสสังเกตเห็น “ปรากฏการณ์แสงโลก” (Earth Shine) เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก สะท้อนไปยังดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นพื้นผิวส่วนที่มืดของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ ในช่วงนี้ยังปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ทุกเย็น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าใน ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีผลต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมโลก แต่อย่างใด

Advertisement

“สำหรับ ที่หอดูดาวหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ซึ่ง เป็นหอดูดาวภูมิภาคตะวันออก ใกล้กรุงเทพฯที่สุด ได้จัดกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 30 พ.ย.62 ให้ดาวด้วยตาเปล่า-กล้องดูดาว รวมจำนวน 8 ตัว เริ่มจัดกิจกรรมเวลา 17.00 น. อาทิ ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาล,ดาราศาสตร์ที่ท้องฟ้าจำลอง ชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือดาวล้อมเดือน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องดูดาวจะเห็นรายละเอียดของดาวเคราะห์ต่างๆชัดเจน ทั้งดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์,ดาวเสาร์ แต่จะมองเห็นสวยงามด้วยตาเปล่า และสามารถบันทึกภาพปรากฏการณ์ได้”นายวรวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image