อุทยานฯภูหินร่องกล้า แจง ‘นางพญาเสือโคร่ง’ ตายธรรมชาติ 35 ต้น ชี้แค่ 2% ของพื้นที่ 126 ไร่

กรณีต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย ที่ปลูกไว้ในแปลงปลูกป่าสาธารณะเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บ้านทับเบิก ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 126 ไร่ มีสภาพต้นเสี่ยงตาย โดยผู้ใหญ่บ้านทับเบิกแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐเข้าตรวจสอบ เพราะหวั่นเกรงว่าต้นนางพญาเสือโคร่งจะยืนต้นตายนั้น

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายอนันต์ ปิ่นน้อย ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) พร้อมด้วย นายสุริยา กาละสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับ นายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านทับเบิก ม.14 ต.วังบาล

นายสุริยา กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นแปลงปลูกป่าประชาอาสา ปลูกเมื่อปี 2551 พื้นที่ 126 ไร่ จำนวนประมาน 2,000 ต้น ทิศตะวันออก ติดกับหมู่บ้านและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทิศตะวันตกติดกับผืนป่าธรรมชาติในเขตอุทยาน จากตรวจสอบต้นนางพญาเสือโคร่งในแปลงปลูก ลักษณะยืนต้นทิ้งใบ เหลือแต่กิ่งก้าน บางต้นกิ่งก้านเล็ก หักลงตามธรรมชาติเหลือแต่กิ่งใหญ่ เพื่อรอแทงยอดดอกและออกใบ

Advertisement

“จากการตรวจนับต้นไม้ พบว่า ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 98 ยังยืนต้นเป็นปกติ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลัดใบ และพบที่ยืนต้นตายกระจายอยู่ทั่วแปลงแบบห่างๆ จำนวน 35 ต้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ บางต้นยืนต้นแห้งตายมานานกว่า 2-3 ปี ทำให้มีรูด้วงเจาะบ้างและมีปลวกกินบ้าง และไม่มีลักษณะการยืนต้นตายติดกันหรือเป็นผืนใหญ่ติดกัน ในลักษณะเป็นโรคระบาด แต่อย่างใด” นายสุริยา กล่าว

นายสุริยา กล่าวอีกว่า จากสอบถามผู้ใหญ่บ้านทราบว่า เมื่อปี 2561 ต้นนางพญาเสือโคร่งไม่ออกดอก จึงมีความกังวลใจว่า ปีนี้ต้นไม้จะไม่ออกดอกอีกเหมือนปีที่แล้ว และเกรงว่าต้นไม้จะติดโรคระบาด จึงได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบ แก้ไขปัญหา ซึ่งการไม่ออกดอกเมื่อปีที่แล้วอาจเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศที่ไม่ค่อยหนาว ประกอบกับมีสัตว์เลี้ยง เช่น วัว เข้ามาในพื้นที่ จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ปลูกป่าดังกล่าวมีสภาพทรุดโทรม จึงได้ฝากผู้ใหญ่บ้านช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับราษฎรในพื้นที่คลายความวิตกเกี่ยวกับการตายของต้นไม้ดังกล่าว และช่วยป้องกันไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ด้วย

Advertisement

หัวหน้าอุทยานฯ ภูหินร่องกล้า กล่าวว่า หลังจากฤดูแตกช่อดอกและใบ ซึ่งจะทำให้เห็นสภาพของต้นไม้ที่ชัดเจน จะได้ประสานผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนมาตรวจสอบสภาพของต้นไม้อีกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลในการที่จะวางแผนฟื้นฟูในระยะยาวต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image