สถาบันมะเร็งฯ-รพ.รามา เอ็มโอยู ‘ธนาคารชีวภาพครบวงจร’ ต่อยอดการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหิดล ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่และเข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาฯ เป็นจำนวนมากกว่า 3,800 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง คณะแพทย์ได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านดังกล่าวและได้จัดให้มี ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะใช้ต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ได้เองในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งได้ในอนาคต ปัจจุบันมีตัวอย่างทางคลินิกต่างๆ เช่น ชิ้นเนื้อมะเร็ง เลือด ฯลฯ ที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารชีวภาพจากผู้ป่วยมะเร็งทั้งสิ้น 2,000 ราย จากการดำเนินงาน 5 ปี

Advertisement

 

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ธนาคารชีวภาพฯ เกิดการพัฒนารูปแบบบูรณาการทั้งด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ จากการใช้ฐานข้อมูลและตัวอย่างทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งรวมถึงโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้ง ความร่วมมือกันระหว่างสององค์กรทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่งานบริการร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีตามมาตรฐานสากล

“เนื่องจากหอผู้ป่วยขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเกือบร้อยละ 50 และมะเร็งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้สูงอายุ ปัจจุบัน การรักษาทางการแพทย์ทำให้โรคมะเร็งมีทั้งแบบรักษาให้หายขาดได้และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยการรักษาใหม่ต้องรู้เรื่องเนื้อเยื่อ เพื่อให้รู้สายพันธุกรรม เพื่อให้ทำการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงได้ เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่สูงขึ้น” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อไปว่า หากมีธนาคารชีวภาพฯ จะทำให้มีการเก็บรักษาตัวอย่างของเซลล์มะเร็งไว้ เพื่อประโยชน์ในการแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งเดียวกัน มีเซลล์มะเร็งที่ต่างกัน ดังนั้นการใช้วิธีการนำเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมาศึกษาเพื่อหายาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือที่เรียกว่าเฉพาะเจาะจง จะเป็นการรักษาที่ได้ผลมากกว่า ทั้งนี้ รพ.รามาฯ ได้มีความร่วมมือกับสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติแล้วก็จะสามารถจัดทำฐานข้อมูลของผู้ป่วยได้ ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลของโรคมะเร็งไว้เพื่อการศึกษาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร

ด้าน นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งฯ มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีด้านโรคมะเร็งเพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สามารถถ่ายทอดสู่เครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 122,757 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตราว 73,000 คน

“ความร่วมมือทางวิชาการนี้ จะนำไปสู่การผลิตผลงานวิชาการ การวิจัยและพัฒนา อันจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล” นพ.วีรวุฒิ กล่าว

ผศ.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ หนัวหน้าธนาคารชีวภาพโรคมะเร็งฯ กล่าวว่า ในการเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อ เลือด เซลล์มะเร็ง จะต้องเก็บโดยไม่ให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์ คือในกรณีที่เป็นการรักษาโรคมะเร็งจะมีผู้ป่วยทั้งที่จะต้องฉายแสงโดยไม่มีการผ่าตัดเอาเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือเซลล์มะเร็งและแบบที่จะต้องผ่าตัดเก็บตัวอย่าง โรงพยาบาลจะต้องขอความยินยอมจากผู้ป่วยที่จะต้องผ่าตัดนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาวิธีการรักษาในการขออนุญาตเก็บเนื้อเยื่อมะเร็งเข้าสู้ธนาคารชีวภาพ ดังนั้นจำนวนที่เก็บได้ในระยะเวลา 5 ปี กว่า 2,000 ราย ไม่ได้เป็นไปตามจำนวนของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากไม่สามารถเก็บได้จากผู้ป่วยทุกราย

“การเก็บชิ้นเนื้อ เนื้อเซลล์หรือเซลล์มะเร็ง หากเก็บรักษาที่ดี ในอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส และเป็นการเก็บแบบปลอดภัย จะสามารถรักษาตัวอย่างเหล่านั้นได้ถึง 10 ปี ดังนั้นก็จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยรายใหม่ในอนาคตได้ระยะยาว และสามารถนำไปวิจัยเพื่อต่อยอดในการรักษาได้” ผศ.พญ.ณฐินี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image