“ไข้เลือดออก” ระบาดภาคใต้ตอนล่าง 7จว.ป่วยแล้ว 9,076 ราย

วันที่ 10 ธันวาคม นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกัน ควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไข้เลือดออก สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 จ.สงขลา (สคร.12) ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคไข้เลือดออกหลังน้ำลด และให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

“สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -วันที่ 3 ธันวาคม 2562 พบผู้ป่วย 9,076 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ สงขลา 2,871 ราย นราธิวาส 1,936 ราย ยะลา 1,381 ราย ปัตตานี 1,193 ราย พัทลุง 859 ราย ตรัง 670 ราย สตูล 166 ราย และพบผู้เสียชีวิต 9 ราย ได้แก่ นราธิวาส 4 ราย สงขลา 3 ราย พัทลุง 1 ราย และยะลา 1 ราย” นพ.เฉลิมพล กล่าวและว่า ขอให้ประชาชนที่กลับเข้าบ้านหลังจากน้ำลด ให้สำรวจพื้นที่และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน เพื่อดำเนินการควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายให้ลดลง โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นพ.เฉลิมพล กล่าวว่า หากมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาในภายหลัง และมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น ซึ่งการรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกจะไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในรายที่ไม่หายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีจะอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว แต่เบา อาจมีเลือดไหลที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน โทร.1422

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image