เอาผิดถึงที่สุด! คนไข้คว้ากรรไกรแทงคอหมอ ข้อหา ‘พยายามฆ่า’ ยันไม่ป่วยทางจิต

จากกรณีที่ผู้ป่วยในของโรงพยาบาล (รพ.) ชุมแพ จ.ขอนแก่น ก่อเหตุทำร้ายร่างกายแพทย์หญิงในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์กำลังเข้าตรวจรักษาโรคตามเวรประจำวัน โดยพยายามใช้กรรไกรแทงที่บริเวณลำคอของแพทย์คนดังกล่าว แต่แพทย์ได้ใช้แฟ้มเอกสารป้องกันร่างกาย จึงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยนั้น

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ได้รับแจ้งเหตุผู้ป่วยอารมณ์ร้อนพยายามใช้กรรไกรแทงที่คอของแพทย์เพราะรอตรวจช้า แต่แพทย์ใช้แฟ้มประวัติของคนไข้ป้องกันตัวได้ จากการสอบถามคือ โดยปกติจะเป็นการดูแลผู้ป่วยจากระดับความรุนแรงหนัก ปานกลาง และเบาเป็นลำดับสุดท้าย และผู้ป่วยคนดังกล่าวนั้นมีการเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการภูมิแพ้ ซึ่งช่วงเวลาก่อเหตุนั้น ผู้ป่วยมีอาการหายกระทั่งเป็นปกติและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านไปแล้ว 3 วัน แต่เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะยังไม่สบายใจเลยขอพักฟื้นต่อ แพทย์จึงอนุญาตให้อยู่ในโรงพยาบาลต่อได้

นพ.สุขุมกล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็ได้ติดต่อกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ขอนแก่นแล้ว และได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค4 และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงแนวทางการดำเนินคดีและได้สั่งการไปแล้วคือ 1.ขณะนี้ได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาพยายามฆ่า เนื่องจากตามกฎหมายพระราชกฤษฎีกา ระบุว่า อวัยวะบริเวณลำคอเป็นส่วนอันตราย มีเส้นเลือด หาทำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ 2.การส่งหลักฐานวัตถุพยานเป็นภาพและวิดีโอในขณะที่ผู้ป่วยก่อเหตุดังกล่าว รวมไปถึงกรรไกรที่ใช้ในการก่อเหตุเพื่อประกอบการดำเนินคดี ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแพทย์เกิดความเสียขวัญ จึงได้สั่งให้ลาพักงานชั่วคราว ด้านผู้ป่วยคนที่ก่อเหตุนั้นขณะนี้ได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ขอนแก่นแล้ว

“คุณหมอได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ได้คุยกันเป็นการส่วนตัวแล้วและให้สบายใจได้เราจะดูแลให้เต็มที่ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน และมอบให้ นพ.สสจ.และผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขต จ.ขอนแก่น ลงไปดูแลแล้ว ท่านลาพักงานช่วงนี้ให้สบายใจ” นพ.สุขุมกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ป่วยที่ก่อเหตุนั้นมีสภาวะทางจิตที่ผิดปกติหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า จากรายงานเบื้องต้นไม่มีความผิดปกติ แต่อาจจะผิดปกติทางบุคลิกภาพภายนอก และได้ดำเนินการตามรูปคดี หากผู้ป่วยมีความผิดปกติก็จะส่งแพทย์ไปตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินอีกที

“คนไข้ไม่ได้เป็นโรคจิต อย่าไปว่าคนไข้ว่าเป็นโรคจิต และเขายังไม่ได้เป็น ซึ่งแต่แรกเข้ามารักษาด้วยโรคภูมิแพ้ และบางกรณีของโรคภูมิแพ้มากๆ หายใจไม่ออก หรือบวมหรือมีอาการอื่น จะต้องมีการฉีดยาดูอาการ 3 วัน พอหายก็กลับบ้านได้ และโรคแต่ละโรคความรุนแรงไม่เหมือนกัน แล้วก็ต้องดูคนไข้ในต่างจังหวัด บางครั้งเราเห็นว่าไม่รุนแรงแต่เขาอาจจะเกิดความไม่สะดวก กลับบ้านไปแล้วดูแลไม่เต็มที่ เราก็ยินดีรับดูแลใน โรงพยาบาล อย่างผู้ป่วยรายนี้จริงๆ ให้กลับบ้านได้ 3 วันแล้ว แต่เราก็ยังต้องดูแลอยู่” นพ.สุขุม

เมื่อถามว่า สธ.มีความกังวลหรือไม่ในความรุนแรงที่เกิดขึ้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเริ่มจากในห้องฉุกเฉินมาถึงหอผู้ป่วยใน นพ.สุขุมกล่าวว่า ในความจริงเราจะต้องเน้นความรุนแรงทุกรูปแบบในโรงพยาบาล โดยสังคมต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่เพียงโรงพยาบาลดำเนินการ

Advertisement

“หากวันนี้มอบให้โรงพยาบาลจัดการ หากโรงพยาบาลไปดำเนินการทำรั้วห้าม สกรีนคนไข้ทุกคน เช็กอาวุธ เช็กประสาทก็ไม่ได้ เราเองเป็นหน่วยบริการ ก็ขอให้เห็นใจหน่วยบริการที่ดูแลยามท่านเจ็บป่วย เช่นการตีกันในห้องฉุกเฉิน คุณหมอกำลังปั๊มหัวใจช่วยผู้ป่วยคนหนึ่งอยู่ ท่านตีกันนิดเดียวด้วยความสะใจ ก็อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เพราะคุณหมอเองก็กลัวลูกหลงเช่นกัน ดังนั้นก็ขอให้ช่วยเว้นในโรงพยาบาล หากท่านมีอะไรไม่พอใจกันก็ขอให้หลีกเลี่ยงในโรงพยาบาล และในส่วนของโรงพยาบาลก็ทำตามกฎหมาย เมื่อก่อนคนอาจจะเห็นว่าตีกันแล้วขอขมาก็จบ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แล้วคดีนี้ก็ต้องอาจจะถึงขั้นทำร้ายร่างกายในสถานที่ราชการ” นพ.สุขุมกล่าว

เมื่อถามต่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความแออัดและภาระของแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับภาระงานของแพทย์หรือมาตรฐานต่างๆ เนื่องจาก สธ.ได้ถือมาตรฐานของรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ และดำเนินการตามาตรฐานของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการรักษามาตรฐาน HA (เอชเอ) ว่าด้วยการดูแลมาตรฐานของห้องฉุกเฉินและเรื่องต่างๆ

“ขณะนี้เราจะต้องมองว่าถึง รพ.จะผ่านมาตรฐานคุณภาพแล้ว แต่บางอย่างอาจจะต้องมีการปรับปรุงหรือไม่ ว่ามาตรฐานอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้และเคยคิดว่าไม่มีอะไร เช่น กรรไกรสำนักงานต่างๆ ที่เราไม่คิดว่าจะมีอันตรายอะไรที่จะเป็นอาวุธได้ วันนี้จึงขอให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับกองวิศวกรรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมด ให้ดูเรื่องมาตรฐานของระบบในห้องฉุกเฉินว่าเราจะต้องขยายระบบจากห้องฉุกเฉินไปยังหอผู้ป่วยในหรือไม่ เนื่องจากหอผู้ป่วยจะเป็นผู้ป่วยที่หนักน้อยกว่าในห้องฉุกเฉินแต่ก็ต้องมีระบบ ดังนั้นจึงอาจจะต้องเน้นกิจกรรม 5 ส. ในการเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย” นพ.สุขุมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image