โพลชี้เยาวชนไทยอยากลอง “บุหรี่ไฟฟ้า” เหตุไม่รู้ผลเสีย จี้รัฐเร่งควบคุมหวั่นวิกฤตสุขภาพ

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่โรงแรมเดอะ สุโกสล ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี แถลงข่าว “วิกฤตสุขภาพเยาวชนไทย จากภัยบุหรี่ไฟฟ้า”
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก จัดเป็นวิกฤตโลกทางด้านสาธารณสุข ดังจะเห็นได้จาก เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศเตือนให้หยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หลังพบผู้เสียชีวิตและป่วยปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสียชีวิต 48 ราย ป่วย 2,291 ราย โดยในยุโรปที่ประเทศอังกฤษและเบลเยี่ยมก็พบผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ซึ่งล่าสุดประเทศไทยพบผู้ป่วยรายแรกจากบุหรี่ไฟฟ้า เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันและระบบหายใจล้มเหลว ปัจจุบันพบว่ามีรายงานการเสียชีวิตและป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยมีข้อสังเกตทางการแพทย์ที่น่าตกใจคือ เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสามารถป่วยและเสียชีวิตได้ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือน
“บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามของทุกประเทศทั่วโลก จึงสนับสนุนให้ประเทศไทย ควรมีระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจริงจัง เพื่อเตรียมการรับมือกับความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นฉุกเฉินจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องควรเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง หากไม่ดำเนินการอะไร ไทยอาจจะมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และควรเร่งสื่อสารข้อเท็จจริงถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่เป็นพลังสำคัญของชาติ” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรรมการกำกับทิศของ ศจย. กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวและเตรียมทบทวนการควบคุมของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน  ซึ่งมีการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วในหลายประเทศ โดยล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2562 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และบังคลาเทศมีแผนห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหวั่นผลกระทบต่อเยาวชนและสุขภาพของคนในประเทศ สำหรับประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย บริการ และครอบครอง ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น เดือนตุลาคม 2562 จับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ส่งสินค้าทางไปรษณียภัณฑ์ ที่ย่านตลิ่งชัน มูลค่าของกลางกว่า 7 ล้านบาท และจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่ย่านคลองถมเซ็นเตอร์ จากการเข้าตรวจค้นกว่า 15 ร้านค้า พบผู้ต้องหาคนไทย 7 คน คนต่างด้าว 3 คน และพบของกลางจำนวนมาก อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า 566 ตัว น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า 5,158 ขวด อุปกรณ์ 1,362 ชิ้น หัวบุหรี่ไฟฟ้า 402 หัว มูลค่าของกลางกว่า 12 ล้านบาท
น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอยูคอมมินิเคชั่น กล่าวว่า ผลโพลล่าสุดของ ศจย. ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนในกรุงเทพมหานคร ผลโพลพบสัญญาณอันตรายหลายประเด็น คือ นักศึกษาเกือบ 100% รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า โดย 1 ใน 3 อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกือบครึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา คือ เป็นอันตรายน้อยกว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งปอด ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ และเชื่อว่าไม่ทำให้ติดเพราะไม่มีนิโคติน และแม้จะมีข่าวดังทั่วโลกว่ามีคนตายจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้วในสหรัฐ แต่มีนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้ข่าวนี้ และจำนวน 1 ใน 6 ยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ผลโพลตอกย้ำว่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยน่าเป็นห่วง โดยเยาวชนยังมีความสับสนเรื่องข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ซึ่งทั้งหมดนี้คือสัญญาณอันตรายอย่างมากที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสารนิโคตินนอกจากเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในสมองทำให้เสพติดได้แล้ว มีผลต่อการทำงานระบบอื่นของร่างกายโดยเฉพาะระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีการศึกษาพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยในการเลิกนิโคตินเทียบกับการเลิกโดยวิธีมาตรฐาน อีกทั้งยังนำไปสู่การติดบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย​ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดสมอง การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังสัมพันธ์ภาวะปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตและในผู้ที่รอดชีวิตยังอาจเกิดโรคปอดเรื้อรังอีกด้วย บุคคลรอบข้างผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอาการจากการได้รับบุหรี่มือสองได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหอบหืดมีการศึกษาพบว่าน้ำยานิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีปริมาณสารนิโคตินไม่ตรงกับที่ฉลากกำกับไว้และมีสารปนเปื้อนอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้ น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ายังมีการแต่งสีและกลิ่นต่างๆ ซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็ก หากเด็กนำมากินจะทำให้เกิดภาวะพิษจากนิโคตินเฉียบพลันในรายที่รุนแรงอาจมีอาการชักและเสียชีวิตได้ ​
“เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ร่วมกับ ศจย.กำลังสร้างระบบการเฝ้าระวังดังกล่าว เบื้องต้นได้ทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงการวินิจฉัยและดูแลรักษา นอกจากนี้ ร.พ.รามาธิบดีได้เตรียมการสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงในการดูแลผู้บาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะทำระบบรับแจ้งเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า (e-cig emergency) จากศูนย์รับแจ้งเหตุห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อให้มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้สูบบุหรี่สามารถปรึกษาเลิกบุหรี่กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ เลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟฟ้าวันนี้เพื่อสุภาพที่ดีของคุณและคนที่คุณรักกันดีกว่า”  ศ.นพ.วินัย กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image