กรมบาดาล ทดลองส่งน้ำระยะไกล 8 หมู่บ้าน นายายอาม แก้ไขภัยแล้ง

กรมบาดาล ทดลองส่งน้ำระยะไกล 8 หมู่บ้าน นายายอาม แก้ไขภัยแล้ง

วันที่ 21 ธันวาคม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า ถึงแม้ว่าเวลานี้ยังไม่เข้าสู่ฤดูร้อน และบางพื้นที่ยังมีฝนตกน้ำท่วม แต่ข้อมูลที่สำรวจพบก็คือ หลายพื้นที่เริ่มมีสัญญาณว่าจะพบกับภัยแล้งแล้ว และหลายพื้นที่ก็เกิดภัยแล้งแบบแล้งซ้ำซาก ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เช่น หมู่บ้านริมทะเลจำนวนมากเมื่อถึงฤดูแล้งไม่มีน้ำจืดสำหรับกินและใช้เลย จะต้องซื้อน้ำ ต้องรอน้ำที่ภาครัฐเอามาบริการ รวมถึงการซื้อน้ำในราคาที่ค่อนข้างแพง ทั้งนี้ เรื่องนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส.สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากให้โครงการ วิธีการที่ดำเนินการนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

“กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ในพื้นที่นำร่อง คือ ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค มาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล และหาน้ำยาก น้ำผิวดินมีคุณภาพกร่อยถึงเค็ม จึงต้องจัดหาน้ำบาดาลจากหมู่บ้านที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง ส่งมาให้หมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเจาะน้ำบาดาลจำนวน 6 บ่อ ลักษณะเป็นกลุ่มบ่อน้ำบาดาล สูบน้ำโดยใช้ซับเมอร์สซิเบิ้ลปั๊มขนาด 3 แรงม้า สูบน้ำขึ้นหอถัง และส่งน้ำผ่านระบบท่อให้กับประชาชนในพื้นที่ต.สนามไชย โดยเทศบาล ต.สนามไชยเป็นผู้ดำเนินการวางแนวท่อประธานต่อน้ำจากระบบน้ำบาดาลระยะไกล ไปยังบ้านเรือนประชาชน ระยะท่อประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าระบบส่งน้ำระยะไกลจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ภายหลังโครงการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 1,400 ครัวเรือน หรือประมาณ 5,000 คน”นายศักดิ์ดา กล่าว

Advertisement

ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 ระยอง กล่าวว่า ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน 1,400 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 5,000 คน มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ และมีปัญหาคุณภาพน้ำบาดาลกร่อย เค็ม แหล่งน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอ ในบางช่วงคุณภาพน้ำผิวดินกร่อยมากถึงเค็ม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลสนามไชยได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการผันน้ำจาก ต.โขมง อ.ท่าใหม่ เข้ามาใช้ แต่ปัจจุบันน้ำมีคุณภาพกร่อยมากถึงเค็ม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เทศบาลตำบลสนามไชยต้องนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ใช้งบประมาณ เติมน้ำมัน 300,000-400,000 บาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัญหาความขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

Advertisement

“เราได้สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูงและออกแบบระบบประปาบาดาล ให้สามารถกระจายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยออกแบบเฉพาะสำหรับการส่งน้ำระยะไกล ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และมีถังเก็บน้ำสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ โครงการดังกล่าวนี้ใช้เงินจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่เริ่มนำมาใช้กับระบบประปาบาดาลเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากเป็นระบบที่เป็นรูปแบบใหม่ จึงต้องมีการศึกษาข้อดี ข้อจำกัด และความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้กับการส่งน้ำบาดาลระยะไกลในพื้นที่อื่นที่มีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกันต่อไป”ดร.พบพร กล่าว

เมื่อถามว่า บ่อบาดาลที่อยู่ใกล้ทะเลจะมีปัญหาน้ำเค็มแทรกซึมหรือไม่ ดร.พบพร กล่าวว่า โครงการนี้โอกาสที่น้ำทะเลจะแทรกซึมเข้าไปในบ่อมีน้อยมาก เพราะมีการเจาะน้ำจากบริเวณภูเขา และจากการสำรวจได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า พื้นที่บริเวณใดที่เหมาะไม่เกิดปัญหาน้ำทะเลแทรกซึม ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหวังว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบสำหรับดำเนินการการไปดำเนินการในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอื่นๆทั่วประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image