สธ.-เอไอเอส พัฒนาแอพพ์ ‘อสม.ออนไลน์’ สำรวจการใช้ ‘สารเคมี’ ในครัวเรือนทั่วปท.

เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เรื่อง การสนับสนุนการใช้โปรแกรมประยุกต์ (แอพพลิเคชั่น) “อสม.ออนไลน์” ในการสำรวจการใช้สารเคมีภายในครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อเอื้อต่อการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ นำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.ได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ประชาชนไม่ป่วย ไม่ตายก่อนวัยอันควร มีคุณภาพที่ดีนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในกลุ่มวัยทำงานภาคเกษตรกรรม เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของกลุ่มวัยทำงานมีความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง และมีความเป็นพิษต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเฉพาะสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งพบได้จากข้อมูลการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และถูกนำมาใช้ทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่ง สธ. มีนโยบายสนับสนุนการยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ภายในปี 2563 และได้กำหนดให้มีการสำรวจการใช้สารเคมีภายในครัวเรือน โดยสามารถใช้ได้บนแอพพ์ อสม.ออนไลน์

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มคิดและพัฒนาแอพพ์ อสม.ออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งในรูปแบบของเครือข่ายสังคมออนไลน์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการทำงานด้านสาธารณสุข ระหว่างหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

Advertisement

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างเอไอเอส และกรมควบคุมโรคในครั้งนี้ เอไอเอสจึงได้มีการพัฒนาแอพพ์ อสม.ออนไลน์ เพิ่มเติม เพื่อให้มีขีดความสามารถมากขึ้น โดยได้เพิ่มแบบรายงานการสำรวจการใช้สารเคมีในครัวเรือน ตามรูปแบบที่ทางกรมควบคุมโรคกำหนด ทั้งนี้เมื่อมีการสำรวจข้อมูลแล้ว ทางหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในพื้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกัน ข้อมูลของทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการสำรวจจะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อใช้ในการประเมินทางวิชาการ และนำไปดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่ต่อไป

“แอพพ์ อสม.ออนไลน์ สามารถสนับสนุนให้การดำเนินงานดังกล่าวของกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ตลอดจนมีส่วนช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิต และเป็นสังคมที่ปลอดจากโรคและภัยสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวีรวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image