นักวิชาการจับตา ‘งดใช้ถุงพลาสติก’ แนะ 3 เดือนวิเคราะห์ผล จี้รัฐเร่งคลอด กม.ควบคุมบรรจุภัณฑ์

นักวิชาการจับตา ‘งดใช้ถุงพลาสติก’ แนะ 3 เดือนวิเคราะห์ผล จี้รัฐเร่งคลอด กม.ควบคุมบรรจุภัณฑ์

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสถานการณ์ขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในตอนนี้ว่า ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมาก จึงหาวิธีจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศ นั่นคือการส่งออกไปนอกประเทศ เช่น จีน เนื่องจากจีนคิดว่าจะนำเศษพลาสติกเหล่านั้นไปรีไซเคิล ก่อนนำมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายต่อ อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตเหล่านี้เสี่ยงต่อผลกระทบต่างๆ ญี่ปุ่นจึงไม่ทำ โดยส่งออกนอกประเทศเสมอมา เมื่อจีนเริ่มตื่นตัว นโยบายจัดการสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น ขยะพลาสติกเหล่านี้จึงเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เข้ามาในเมืองไทย โดยมีกลุ่มธุรกิจที่ต้องการพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือคนจีนที่มาเช่าที่ดินในประเทศไทยตั้งโรงงานผลิตเอง จะเห็นว่าไทยไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าเลย หากเร่งให้เกิดกระบวนการรีไซเคิลภายในประเทศขึ้น ส่งผลให้มีวัตถุดิบเพียงพอ ดังนั้น ประเทศไทยต้องเข้มงวดเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติก

นายพิรียุตม์กล่าวว่า มาตรการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกนั้น นักวิชาการที่ทำเรื่องขยะได้เสนอกันมานานแล้วว่าไทยควรมีกฎหมาย แต่เราไม่ค่อยเอาใจใส่ หรือไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ชอบแต่เรื่องรณรงค์ ซึ่งบางเรื่องก็ประสบความสำเร็จ เช่น การรณรงค์เรื่องสุขอนามัย เรื่องบุหรี่ เหล้า รวมทั้งเรื่องสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้โรงกลั่นต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีการกลั่น ทั้งนี้ เรื่องถุงพลาสติก หรือขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ เราพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมบรรจุภัณฑ์มานานแล้ว ส่วนถุงพลาสติกเองก็ควรมีกฎหมายห้ามมิให้ผลิตชนิดบาง โดยหลายประเทศมีกฎหมายควบคุมการผลิตถุงพลาสติกแล้วว่าต้องมีความหนาเท่าไหรบ้าง เพราะเมื่อถุงมีความหนาขึ้น ต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้นด้วย ทำให้ไม่แจกกันง่ายๆ แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการเหล่านี้

“การรณรงค์ช่วงสัปดาห์แรกที่พบอะไรตลกๆ นั้น อาจอลเวงอยู่สักพัก แต่เดี๋ยวทุกคนก็จะปรับตัว ความจริงแล้วรัฐควรต้องทำอะไรให้ต่อเนื่องกว่านี้ ไม่ใช่รณรงค์อย่างเดียว ควรมีมาตรการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมิให้ผลิตถุงพลาสติกแบบบาง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือการรณรงค์ไม่ใช้โฟม หากไปตามท้องถิ่นจะพบป้ายติดว่าจะไม่ใช้โฟม ทว่ากลับไม่มีใครพูดถึงโรงงานผลิตโฟม ทุกท้องถิ่นจึงยังมีการขายโฟมอยู่ นี่เป็นเรื่องแปลก ผู้ลิตก็ผลิตไป เราก็รณรงค์กันต่อไป” นายพิรียุตม์กล่าว

Advertisement

นายพิรียุตม์กล่าวต่อว่า การรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกอาจกระทบผู้ผลิตถุงพลาสติกบ้าง แต่อย่าลืมว่าพลาสติกมีโปรดักต์อื่นมากมาย เช่น กระปุก กระป๋อง ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือควรรอสัก 3 เดือนแล้วกลับมาวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะกันว่าขยะพลาสติกลดลงจริงหรือไม่ หากลดลงจริงราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตได้รับผลกระทบก็จริง แต่เขาทราบมานานแล้ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่านั้นคือโครงการของรัฐที่สนับสนุนให้ทำเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) เนื่องจากสัดส่วนขยะที่เผาไหม้ได้จะหายไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดา เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะส่งผลอย่างไร จะสามารถลดปริมาณพลาสติกลงได้จริงหรือไม่

“จะบอกว่าการลดใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องปลายเหตุหรือไม่ก็ไม่เชิง หากเราลดการใช้ถุงพลาสติกก็คือการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ต้นทาง เพราะปลายทางคือวิธีการกำจัด จะต้องมีอะไรที่เปลี่ยนไป ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเปลี่ยนขนาดไหน เพราะอย่างที่กล่าวว่าอาจต้องรอถึง 3 เดือนว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง ทั้งนี้ องค์ประกอบของขยะจำนวน 100 กิโลกรัม โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบหญ้า ประมาณ 50 กก. พวกถุงพลาสติกต่างๆ ประมาณ 15-20 กก. ซึ่งเราไม่รู้ว่าด้วยมาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้จำนวนนี้ลดลงหรือไม่ ถ้าลดลงในส่วนของพลาสติก ส่วนอื่นก็จะเพิ่มขึ้น เพราะยังไงก็ต้องเป็น 100 กก. เช่นเดิม แต่จะทำให้รูปร่างหน้าตาขยะเปลี่ยนไป

“หากในอนาคตเราคำนึงถึงการผลิตสินค้าจำพวกบรรจุภัณฑ์ว่าจะทำอย่างไรให้เราใช้พลาสติกได้น้อยลง หรือมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบของสินค้าก็จริง แต่สามารถนำไปใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลต่อโดยไม่ต้องทิ้ง ซึ่งก็ต้องพูดคุยกันต่อไป” นายพิรียุตม์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image