“อนุทิน” เผยตั้ง คกก.โรคจากการประกอบอาชีพ เพื่อเร่งยุติปม “3สารเคมี”

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์และสาธารณสุข กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย รองปลัด สธ. อธิบดี และคณะผู้บริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทุกจังหวัด หารือมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและอันตรายจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยให้ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น สู่หน่วยบริการคลินิกสารเคมีเกษตร คลินิกโรคจากการทำงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. มีนโยบายให้ ปี 2563 เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย และสนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ ยืนยันสนับสนุนการยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัยไม่ปนเปื้อน และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับที่ช่วยตรวจสอบรายงานการใช้สารเคมีทางการเกษตร อีกทั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับบริษัทในเครือของเอไอเอส พัฒนาแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ในการสำรวจการใช้สารเคมีในครัวเรือน หากพบการใช้สารเคมีจากครัวเรือนไหนมากที่สุด จะต้องเข้าไปแนะนำเพื่อลดการใช้ไปจนถึงการเลิกใช้สารเคมี

“หากเป็นการเกษตรกรรมพื้นบ้าน ปลูกรับประทานเองในครัวเรือน ยิ่งมีความเสี่ยงอันตรายมาก เพราะว่าสารเคมีไม่ได้รับการเจือจางจึงมีแต่ความเข้มข้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งนี้จึงจะต้องกำชับ นพ.สสจ.ดูแลและรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้น” นายอนุทิน กล่าวและว่า กรมควบคุมโรคได้ออก 2 มาตรการควบคุม คือ 1. ให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รายงานผู้เจ็บป่วยทั้งในผู้ใช้สารเคมีโดยตรง การสัมผัส สารเคมีและในผู้บริโภคเพื่อจัดทำข้อมูลความรุนแรงของสารเคมีเสนอต่อรัฐบาลว่าสารเคมีเหล่านั้นมีอันตราย เพื่อหักล้างข้อมูลกับผู้ที่เห็นแย้งหรือผู้ที่กล่าวหาว่า สธ. ปราศจากข้อมูล

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนนี้อาจจะต้องใช้การดำเนินการ 1-2 สัปดาห์ จึงขอให้ อสม. ช่วยกันบอกต่อกับสมาชิกในการเข้าถึงแอพพ์ฯ อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการอ้างอิงมากที่สุด 2.การแต่งตั้งคณะกรรมการ ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ ภายในวันที่ 16 มกราคมนี้ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติสารเคมีทางการเกษตรของพื้นที่ โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม ของกรมควบคุมโรค โดยสำรวจ 2 ครั้ง พร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม และครั้งที่ 2 วันที่ 1 – 31 กรกฎาคมนี้ จึงขอให้ นพ.สสจ.เตรียมรายชื่อคณะกรรมการที่เห็นว่าเหมาะสมไว้และนำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเซ็นลงนาม เพื่อเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของกรมควบคุมโรค โดยจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มกราคมนี้

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สธ.ได้กำหนด ตัวชี้วัดให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนมาตรการยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตร ประกอบด้วย 1.มีการขับเคลื่อนมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับส่วนกลางและภูมิภาค อย่างน้อยจังหวัดละ 1 เรื่อง ผ่านกลไกของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด 2.มีระบบรับแจ้งข่าว การใช้ ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร โดยประชาชน อสม. ผ่าน อสม.ออนไลน์ และ 3.จังหวัดมีการจัดทำฐานข้อมูลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม และรายงานการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

Advertisement

“การสำรวจครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลการใช้สารเคมีทางการเกษตรของทุกครัวเรือน และข้อมูลการเจ็บป่วยที่ครบถ้วน แม่นยำขึ้น เพราะจะมีข้อมูลของกลุ่มที่ไม่ได้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล นำไปวางแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและประชาชนในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image