ไทรอยด์พิษในคุก กินเมนูซ้ำถึงตาย

จากกรณีผู้ต้องขังในเรือนจำ จ.พิษณุโลก หลายคนป่วย และมี 4 คนเสียชีวิต โดยแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยและสรุปว่าเกิดจาก อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ และมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนทีเอสเอช (TSH) มีปริมาณต่ำจนไม่สามารถควบคุมฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ได้ และส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า กรณีดังกล่าวอาจจะเกิดจากสภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งนำไปสู่ความไม่สมดุลของเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียมต่ำ ซึ่งในรายที่เสียชีวิตคือ มีอาการอ่อนแรงที่เกิดจากภาวะโพแทสเซียมต่ำ และส่งผลต่อสภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ขณะนี้มีจำนวน 20 กว่าราย ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) พุทธชินราช เพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เสริมว่า เรื่องนี้จะต้องแยก 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องของการเกิดโรคภายในเรือนจำ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากมีการรายงานมาแล้วก่อนหน้านี้หลายครั้ง นำมาสู่การที่กรมราชทัณฑ์ได้ออกหนังสือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนในการควบคุม เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก

2.โรคไทรอยด์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรคติดต่อที่สามารถระบาดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ และ3.กองระบาดวิทยา ได้ทำการคัดกรองป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่มีความผิดปกติ เพื่อทำการรักษาช่วยลดอัตราการเสียชีวิต รวมไปถึงการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยข้อมูลเบื้องต้น กรมควบคุมโรคส่งไปยังกรมราชทัณฑ์แล้ว พร้อมทั้งจะต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนว่า โรคไม่ติดต่อก็สามารถแพร่ระบาดได้ในลักษณะการเกิดเป็นกลุ่มก้อนของผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกัน เช่น การอุปาทานหมู่ในผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งหมายถึงการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนแต่ไม่ใช่โรคติดต่อ

Advertisement

จากกรณีที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนจากอวัยวะของสัตว์ ซึ่งกรมควบคุมโรคสั่งการไปยังกองระบาดวิทยา เพื่อประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบอาหารที่นำจ่ายให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง

จากกรณีนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องขังรับประทานอาหารที่มีการประกอบขึ้นจากอวัยวะภายในของสัตว์ เช่น เลือด เครื่องใน คอหมู ที่เป็นส่วนของไทรอยด์หมู เป็นการสะสมในระยะที่ยาวนาน ดังนั้น สารต่างๆ ที่อยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำไม่สามารถเลือกรับประทานได้ ซึ่งต่างจากคนที่อยู่ภายนอกที่สามารถเลือกรับประทานอาหารไม่ซ้ำได้ เหมือนเป็นการเปลี่ยนอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนที่อยู่ภายนอกเรือนจำไม่เกิดภาวะนี้ แต่ผู้ต้องขังจะต้องรับประทานอาหารซ้ำๆ อยู่เป็นระยะเวลานานจึงส่งผลนี้เกิดขึ้นต่อร่างกาย

“อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามากไปก็ไม่ดี เช่น น้ำตาล หากรับประทานในปริมาณน้อยก็จะมีความหวาน แต่รับประทานในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคได้” นพ.สุวรรณชัยสรุป

Advertisement

ด้าน นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการป่วยตายด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษในประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะโรคนี้เกิดจากภาวะผิดปกติของภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองชนิดหนึ่งที่ทำให้เป็นโรค ผู้ป่วยจะตาโปน มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ความดันสูง ผิวเปียกเพราะมีเหงื่อออกมาก กินจุแต่น้ำหนักลด ที่สำคัญสังเกตง่ายจากคอโต หากเอาหูฟังของแพทย์ไปทาบเพื่อฟังเสียงที่คอจะได้ยินเสียงเหมือนน้ำไหลที่ไหลแรง ส่วนอาการข้างเคียงที่ตามมาจะมีผมร่วง เล็บเปราะ ถ้าเป็นในเพศหญิงจะทำให้มีประจำเดือนมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งทั้งเพศชายและหญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาจะเจอในเพศหญิงมากกว่า

ในหลักการทางวิชาการ ผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิตยากมาก ยกเว้นจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอายุมากปล่อยไว้ให้นอนติดเตียงญาติไม่นำไม่ไปพบแพทย์อาจจะเสียชีวิตได้ หากเป็นโรคในคนปกติ ก็ดูจากหน้าตาจะมีความผิดปกติตั้งแต่มีตาโปน คอโต มีอาการเท่านี้ผู้ป่วยก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อให้ยารักษาการให้สงบลง

สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่รับประทานอาหารปกติไม่ต้องกังวล เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่ที่พบจะมาจากกรรมพันธุ์ หากมีญาติเคยเป็นโรคก็อาจถ่ายทอดมาถึงได้ หากไม่มีใครเป็นโรค ถ้าจะเป็นเองถือว่าน้อยมาก ยกเว้นไปรับประทานอาหารที่มีสารไอโอดีนมากติดต่อกัน

สำหรับในเรือนจำที่มีข้อสงสัยจาการเสียชีวิต ก็จะมาจากผลของการเจาะเลือดและมีผลการออกฤทธิ์ในกระแสเลือดสูง จากนั้นต้องไปพิสูจน์ต่อในห้องปฏิบัติการ ขณะที่ในต่างประเทศที่นิยมรับประทานเนื้อวัว ก็จะนำทั้งตัวของวัวที่มีไทรอยด์ไปตรวจ หากวัวตัวไหนมีโรคนี้มาก ถ้านำเนื้อไปปรุงให้คนรับประทานก็จะมีผลตามมา นอกจากนั้นในแฮมเบอร์เกอร์ก็เคยมีไทรอยด์ปนเปื้อนมากับเนื้อวัว ผู้ที่บริโภคจะมีอาการคล้ายไทรอยด์เป็นพิษแต่ไม่เสียชีวิต เพราะถือว่าเป็นโรคจากการรับประทานอาหารต่อเนื่อง ส่วนในเรือนจำก็ประเมินได้ว่าการเกิดโรค มาจากการกินอาหารประเภทเดียวกัน แต่ต้องใช้เวลานาน ไม่ได้รับประทานแล้วตายทันที เพราะผู้ป่วยที่ติดโรคด้วยกรรมพันธุ์มีอาการป่วยนาน แต่ไม่มีใครเสียชีวิตง่ายๆ

“ประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยงโรคนี้น้อยมาก เพียงรับประทานอาหารตามปกติ และในไทยมีปัญหาจากโรคนี้น้อย เพราะไม่ใช่โรคเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรน่ากังวล แต่เป็นแล้วต้องไปรักษา เพื่อไม่ให้มีอาการแทรกซ้อนอื่น และเมื่อเป็นโรคนี้ปัจจุบันไม่มีใครเสียชีวิต ส่วนในเรือนจำที่มีผู้เสียชีวิต อาจต้องปรับปรุงระบบการผลิตอาหารไม่ให้มีการปนเปื้อนจากเนื้อสัตว์ และการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” นพ.สุริยะแนะนำ

ขณะที่ นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม นายแพทย์ชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เชียงใหม่ อธิบายว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มาจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดเกลือแร่ กินน้อย ร่างกายมีเมตาบอลิซึมผิดปกติ หรือมาจากการกินเนื้อหมู ไก่ คอไก่ ที่อาจมีการปนเปื้อน แต่ปกติแล้วไทรอยด์เป็นพิษไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน และก่อนที่จะเกิดโรคที่เรือนจำพิษณุโลกก็เจอในหลายเรือนจำ จากห้องปฏิบัติการในการตรวจตัวอย่าง 4 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนในเนื้อหมู 1 ตัวอย่าง

“วิธีแก้ไขและควบคุมโรคคือให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมู และจากการติดตามตลอด 1 เดือนช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม พบว่าผู้ต้องขังมีความผิดปกติลดลงทั้งใน 3 เรือนจำในพื้นที่เชียงใหม่คือ เรือนจำหญิง เรือนจำแม่แตง และเรือนจำจังหวัดฝาง” นพ.กิตติพันธุ์ระบุ

เป็นข้อมูลที่ช่วยให้เบาใจได้หน่อยว่าไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และไม่ได้ระบายสำหรับประชาชนทั่วไป ยกเว้นในเรือนจำที่มีการรับประทานอาหารที่ซ้ำๆ และมีการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องหาทางปรับปรุงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image