“ฝุ่นจิ๋ว” ไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องตระหนัก คาดการณ์ให้เป็นเพื่อเตรียมป้องกัน

“ฝุ่นจิ๋ว” ไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องตระหนัก คาดการณ์ให้เป็นเพื่อเตรียมป้องกัน

กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือพีเอ็ม2.5 ที่ปกคลุมอากาศทั่วพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายรวมไปถึงความวิตกกังวลของประชาชนถึงสถานการณ์ความอันตรายของฝุ่นละออง

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถลอดการกรองขนจมูก เข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนที่ลึก และผ่านไปยังอวัยวะภายในของร่างกายได้ กระบวนการของสุขภาพจะเกิดการระคาย การแพ้ การอักเสบ ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว อธิบายได้คือผลกระทบ “ระยะสั้น” จะส่งผลให้เกิดการระคาย ดังนั้นประชาชนที่เจอฝุ่นพีเอ็ม2.5 เกินค่ามาตรฐานก็จะเกิดการระคาย ส่งผลกระทบได้แก่ 1.ระบบทางเดินหายใจ การคันบริเวณร่างกาย ไอ จาม ระคายเคืองดวงตาและผิวหนัง 2.ในกรณีผู้ที่มีไวต่อภูมิแพ้ จะเกิดอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ก็จะเกิดผื่นคันและลมพิษ อาจเกิดขึ้นได้ที่ดวงตาไปจนถึงการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ 3.การเข้าถึงอวัยวะชั้นลึกของร่างกาย เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กมากที่จะสามารถผ่านผนังเยื่อบุของร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบ จะมีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้นในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในด้านผลกระทบ “ระยะยาว” เนื่องจากเป็นฝุ่นขนาดเล็กจนบางครั้งสารก่อมะเร็งอาจเคลือบที่ผิวฝุ่นและเข้าสู่ร่างกาย เมื่อมีการสะสมในอวัยวะชั้นลึกเป็นระยะเวลานานหลายปี ก็อาจเกิดเป็นโรคมะเร็งได้

Advertisement

เมื่อถามว่าควรป้องกันอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนที่ 1 คือ การมีส่วนร่วมในการลดฝุ่น เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูป การใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่จะทำให้เกิดฝุ่นคาร์บอนจากหมึกและตัวเครื่องได้ การใช้รถยนต์ที่มีการสันดาปของน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำกว่ายูโร 4 ลงมา การจราจรที่ติดขัด การเกิดฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีการกำจัดฝุ่นก่อนปล่อยออก การเผาไหม้ต่างๆ เช่น การเผาขยะ การเผาหน้าดิน ส่วนที่ 2 คือการป้องกัน ใช้มาตรการ ลด-งด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยของฝุ่นตลอด 24 ชั่วโมง ตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ คือ เมื่อถึงช่วงเวลาที่มีสถานการณ์เสี่ยงต่อสุขภาพให้ประชาชนลดกิจกรรมกลางแจ้ง และเมื่อถึงช่วงที่มีอันตรายต่อสุขภาพมากให้งดการออกจากบ้าน หากจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ควรใช้หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะเดินทางไปและความแข็งแรงของร่างกาย อนามัยธรรมดาก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่หากต้องไปในที่ที่มีฝุ่นเยอะควรใช้หน้ากากเอ็น95 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองปริมาณหนาแน่น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในส่วนของการป้องกันในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและผู้ต้องประกอบอาชีพกลางแจ้ง จะต้องระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษ ในท้ายที่สุดแล้วหากได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง ทางที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการรักษาอาการและเพื่อออกจากพื้นที่ที่มีฝุ่น เข้าไปอยู่ในห้องปลอดฝุ่น

“ฝุ่นละอองจะมีค่าที่สูงในช่วงเวลาเช้ามืดและลดลงในช่วงสายไปตลอดจนช่วงบ่ายและจะขึ้นสูงอีกทีในช่วงเวลาดึกไปตลอด จนช่วงเช้ามืดเข่นเดิม ดังนั้นประชาชนจะต้องดูพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง ดูสภาพร่างกายของตนเองดู ตำแหน่งที่อยู่อาศัยหรือที่ที่จะต้องเดินทางไปประกอบกิจกรรมต่างๆ และเปรียบเทียบกับค่าฝุ่นที่หน่วยงานราชการเป็นผู้ประกาศ หากเราดูรวมๆ ได้เช่นนี้เราก็จะสามารถใช้ชีวิตประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติเนื่องจากได้คาดการณ์สถานที่ที่มีฝุ่นควันแล้ว โดยที่เราตระหนักและเลือกวิธีปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมโดยที่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image