สธ.ยันไทยยังไม่เฝ้าระวังบินตรง ‘ปักกิ่ง-เซินเจิ้น’ หลังพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 2019 แนะ ปชช.เลี่ยงไปอู่ฮั่น

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดประชุมวิชาการ “ปฐมบทไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019″ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา นักศึกษาแพทย์ และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เข้าร่วม

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ขณะนี้ทางการจีนรายงานว่า พบผู้ป่วยประมาณ 200 ราย อาการรุนแรง 8 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ล่าสุด พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เมืองปักกิ่งและเมืองเซินเจิ้น ถือเป็นครั้งแรกที่พบนอกพื้นที่เมืองอู่ฮั่น แต่จีนยังไม่ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการติดเชื้อ ระบุเพียงว่าการติดต่อจากคนสู่คนมีความเป็นไปได้น้อย

“หากพิจารณาจากรายงานพบว่าที่เมืองอู่ฮั่น มีคนในครอบครัวติดเชื้อชนิดนี้ทั้งที่ไม่เคยไปตลาดมาก่อน รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ในปักกิ่งและเซินเจิ้นที่กลับมาจากอู่ฮั่น ผู้ป่วยชาวจีนที่ติดเชื้อดังกล่าวก่อนเดินทางมาไทยทั้ง 2 ราย และผู้ป่วยที่ญี่ปุ่นรายงาน 1 ราย ก็ไม่เคยไปตลาดที่พบเชื้อมาก่อน ดังนั้นการแพร่เชื้อจากคนสู่คนสามารถพูดได้ระดับหนึ่งว่าเป็นไปได้” นพ.ธนรักษ์กล่าว และว่า ปัจจุบันคนจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน โดยร้อยละ 10 หรือประมาณ 3 แสนคน มาจากเมืองอู่ฮั่น

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการห้ามการเดินทาง และยังไม่มีการเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากปักกิ่งและเซินเจิ้น เนื่องจากยังไม่พบรายงานการระบาดของเชื้อใน 2 พื้นที่นี้ แต่ได้สั่งการให้มีการจับตาอย่างเข้มข้น เมื่อใดที่มีการรายงานว่า เกิดการระบาดในเมืองนี้ ก็จะเพิ่มการเฝ้าระวัง ขณะที่ประชาชนคนไทยยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะไม่มีการระบาดในเมืองไทย แต่ในส่วนของสถานพยาบาลขอให้ระมัดระวัง เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากช่วงคัดกรองที่ด่านอาจไม่มีไข้ แต่อาจมีอาการภายหลัง ก็มักจะไปที่สถานพยาบาล และบางครั้งคนไข้ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร มาจากไหน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มีใครสวมชุดป้องกันออกห้องฉุกเฉิน จึงอยากให้มีการจัดคลินิกแยกเฉพาะ

Advertisement

“คนไทยที่จะเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น ถ้าเลื่อนได้ก็ขอให้เลื่อน แต่ถ้าเลื่อนไม่ได้ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการไปตลาด โรงพยาบาล หรือสัมผัสกับสัตว์และซากสัตว์ ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยด้วย” นพ.ธนรักษ์กล่าวและว่า ส่วนกรณีผู้ป่วยชายไทยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งรักษาอยู่ในห้องแยกโรคโรงพยาบาล (รพ.) นครปฐม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้ออื่นที่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น จะนำผลการตรวจนี้เข้าหารือในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเร็วๆ นี้ เพื่อวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคอะไร หรือติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไม่ ทั้งนี้ ต้องรอให้ข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนก่อน

 

 

Advertisement

ด้าน ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ กล่าวถึงการตรวจสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ใช้กระบวนการในการตรวจแบบเดียวกับโรคเมอร์ส โดยตรวจว่าเป็นไวรัสที่รู้จักมาก่อน 33 ชนิด ในประเทศไทยที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจว่าใช่หรือไม่ใช่ และตรวจตระกูลของไวรัส โดยตรวจใน 2 ตระกูล คือ โคโรนาไวรัส และอินฟลูเอนซา และเมื่อพบว่าเป็นตระกูลโคโรนาไวรัส จึงได้ทำการถอดพันธุกรรมทั้งหมด โดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพันธุกรรมเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาที่มีอยู่ในธนาคารพันธุกรรม ซึ่งมาจากการรวบรวมภายใต้โครงการ PREDICT

“โคโรนาไวรัสแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ แอลฟา เบตาเอ เบตาบี เบตาซี และเบตาดี พบว่า มีความคล้ายโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคซาร์สในค้างคาว ร้อยละ 82-90 และทางการจีนได้เผยแพร่ต้นแบบสารพันธุกรรมของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เมื่อนำมาเทียบกันก็พบว่าตรงกันร้อยละ 100” ดร.สุภาภรณ์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image