ฉลาดซื้อจี้ สมอ.เร่งออกมาตรฐาน ‘เครื่องฟอกอากาศ’ คุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลการสุ่มทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ จำนวน 10 ยี่ห้อ โดยเปรียบเทียบราคาซื้อขายตามท้องตลาด ณ เดือนมิถุนายน 2562 และได้ทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงตามมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467 – Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน

จากผลการทดสอบสามารถแบ่งประเภทของเครื่องฟอกอากาศ โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบพื้นที่ห้องที่เหมาะสมกับพื้นที่ห้องที่แนะนำตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน 5 กลุ่ม ดังนี้

1.เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับกลุ่มที่ขนาดพื้นที่ห้องจากการทดสอบ มีขนาดเล็กมาก 2.32 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งสามารถแปลผลการทดลองได้ว่า ไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Clair

Advertisement

2.เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องขนาด 13-16 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งานได้แก่ ยี่ห้อ Blueair

3.เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 30 ตร.ม. และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi Fanslink Air D, Sharp และ Bwell

4.เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 30 ตร.ม. แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari และ Mitsuta

Advertisement

5.เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตร.ม. และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi

นายไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตว่าการบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วง Range ที่ค่อนข้างกว้าง เช่น กรณีของ Philips รุ่น AC 1215/20 ขนาดห้องที่แนะนำ อยู่ในช่วง 21-63 ตร.ม. ยี่ห้อ Mi รุ่น (Air Purifier 2s) ขนาดห้องที่แนะนำ 21-37 ตร.ม. ดังนั้น ถ้าสามารถทราบค่า CADR ของแต่ละผลิตภัณฑ์ เราสามารถที่จะคำนวณประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศได้ ซึ่งค่า CDAR ที่ได้จากการทดสอบเป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการกำจัดฝุ่น ได้ 99% ในเวลา 90 นาที ในกรณีที่ห้องมีขนาดใหญ่เวลาที่ใช้ในการกำจัดฝุ่นก็จะมากขึ้นหรืออาจไม่สามารถกำจัดฝุ่นได้

“การทดสอบนี้เป็นเพียงการทดสอบในประเด็นประสิทธิภาพของเครื่องในการกำจัดฝุ่นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องความทนทาน ความสามารถในการกำจัดฝุ่นเมื่อระยะเวลาใช้งานนานขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในสินค้าประเภทเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน จึงมีความสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลการทดสอบตามมาตรฐานในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจ” นายไพบูลย์ กล่าวและว่า เสนอว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควรเร่งจัดทำมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ เครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของวัน เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอาคาร จึงได้รับฝุ่น PM2.5 จากอากาศในอาคารมากกว่าอากาศภายนอก ซึ่งแนวทางการปกป้องสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 คือ การจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยในอาคารบ้านเรือนที่เป็น “ห้องปลอดฝุ่น” ดังนั้น เครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image