ไขข้อสงสัย รับมือ “ไวรัสโคโรนา”

ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เริ่มมีการระบาดในตลาดขายอาหารทะเล เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มาจนถึงขณะนี้รวมระยะเวลาราว 1 เดือน พบว่าแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ไปในหลายประเทศ ขณะที่จีนที่เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัสมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่า 2,000 ราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 50 ราย

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง มีทั้ง ข้อมูลเท็จŽ และ ข้อมูลจริงŽ กระหน่ำซ้ำให้สถานการณ์วุ่นวายและสร้างความสับสนให้กับประชาชน มติชนŽ จึงได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยที่พบในโลกออนไลน์ไปสอบถาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากอะไร?
ต้นกำเนิดเดิมคือค้างคาว โดยเชื้อชนิดนี้จะมีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวทั้งหมด แบ่งเป็นไวรัสโคโรนาประเภทที่ทราบชื่อ และประเภทที่ไม่ทราบชื่อ ดังนั้นชนิดที่ทราบชื่อแล้วและติดเชื้อในคน ได้แก่ อาการไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลธรรมดา ไปจนถึงอาการปอดบวม และก่อให้เกิดเป็นโรคซาร์สและเมอร์ส อย่างที่เราทราบกันดี และในส่วนของการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ คือเชื้อไวรัสโคโรนาในประเภทที่ไม่ทราบชื่อ และก่อให้เกิดโรคในคนได้

การใส่หน้ากากอนามัยธรรมดา สามารถใช้ป้องกันได้หรือไม่?
ขณะนี้เป็นการถ่ายทอดทางไอ จาม ที่มีฝุ่นฝอยละอองมีขนาดใหญ่กว่า 2.5 ไมครอน เพราะฉะนั้นหน้ากากอนามัยธรรมดาสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากละอองของไวรัสมีขนาดใหญ่

Advertisement

กรณีใส่หน้ากากป้องกันจมูกและปาก แต่ไม่ได้ป้องกันดวงตา การติดต่อสามารถติดต่อผ่านดวงตาได้หรือไม่?
หากเราถูกไอ จาม รดหน้า ในขณะที่เราใช้หน้ากากอนามัยป้องกันแล้ว แต่จะต้องระวังบริเวณเยื่อบุตาด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสแพร่กระจายออกมา ไม่ได้เข้าในเยื่อบุจมูกหรือเยื่อบุริมฝีปากเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเข้าทางเยื่อบุตาได้ หรือที่มือเราไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู พื้นโต๊ะ เก้าอี้ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไอ จาม รดใส่ไว้ที่พื้นผิว แล้วนำมือมาขยี้ดวงตาก็สามารถติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุใดของร่างกายสามารถรับเชื้อโรคต่างๆ เข้าไปในร่างกายได้ทั้งหมด แม้กระทั่งการที่เราใช้มือถอดหน้ากากอนามัยที่มีละอองของเชื้อโรคอยู่ผิวนอกของหน้ากาก แล้วไม่ได้ล้างมือก็สามารถเป็นการนำเชื้อได้เช่นกัน

ในสภาวะของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หนาแน่น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเร็วขึ้นหรือไม่?
ส่วนนี้จะต้องกล่าวถึงหน้ากากเอ็น 95 หากใส่ป้องกันได้ ก็จะดี เนื่องจากหน้ากากเอ็น 95 สามารถป้องกันฝุ่นละอองพิษในอากาศได้ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นี้จะทำให้เยื่อบุไปจนถึงทางเดินหายใจเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการใส่ไว้ก็จะช่วยป้องกันได้ทั้ง 2 อย่าง แต่กรณีของแพทย์ในโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้หน้ากากเอ็น 95 เนื่องจากผู้ป่วยบางรายจะต้องดูดเสมหะ ทำให้เกิดแรงดันสูงและสามารถเปลี่ยนละอองของเสมหะให้เป็นละอองฝอยเล็กๆ ได้ และนำไปสู่การเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ทันที

กรณีมีการเผยแพร่คลิปชาวจีน เป็นลมหมดสติ ท่ามกลางความตื่นตระหนกของประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ จากสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดจากเชื้อไวรัสเข้าทำลายร่างกายอย่างรุนแรง?
แท้ที่จริงแล้ว หากดูจากลักษณะสำคัญของโรคที่รุนแรง คือผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อย ในขณะเดียวกันนั้นก็มีสภาวะของร่างกายหายใจไม่เต็มอิ่ม หอบเหนื่อย ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นลมไป บางรายเป็นลมแล้วศีรษะฟาดพื้น ทำให้สลบและหมดสติไป

Advertisement

ระยะฟักตัวของโรคกี่วัน? และมีลำดับอาการอย่างไร?
ระยะฟักตัวเริ่มตั้งแต่ 2-10 วันหรืออาจจะนานกว่าเล็กน้อย ส่วนลำดับอาการเริ่มต้นตั้งแต่ 5-7 วันแรกจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจนผู้ที่มีอาการเริ่มอยากจะไปพบแพทย์ บางรายไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ คือ หลังจาก 5-7 วันแรกผ่านไปก็จะมีอาการจะเป็นขั้นรุนแรงขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้าพักรักษาอาการในโรงพยาบาล และหากยังไม่หาย หลังจากนั้นจะมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นเข้าห้องไอซียู อยู่ในระยะของวันที่ 8-10

การป้องกันในเบื้องต้น ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?
เบื้องต้นคือการยึดตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อธิบายได้ว่า 1.การกินร้อน คือ อาหารต่างๆ จะต้องทำให้สุก ไม่กินแบบสุกๆ ดิบๆ เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้ว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นสัตว์นำโรคหรือไม่ 2.ช้อนกลาง หากว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ใช้ช้อนหรือแก้วน้ำเดียวกันกับผู้อื่น ก็จะเป็นการแพร่เชื้อไวรัสได้จากการที่เชื้อไวรัสติดอยู่ในภาชนะเหล่านั้น 3.ล้างมือ คือ การรักษาความสะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือของสาธารณะ รวมไปถึงห้ามถ่มน้ำลาย เสมหะรดพื้นหรือสถานที่สาธารณะ เนื่องจากเมื่อเสมหะหรือน้ำลาย แห้งไปแล้วก็จะสามารถกลายเป็นฝุ่นเล็กๆ ลมพัดไปสู่ผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน

การขนส่งของจากประเทศจีนในขณะนี้ ไม่ว่าใช้วิธีการใดก็ตาม จะมีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ ?
เรียกได้ว่าน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่สำคัญอยู่ที่ว่าพัสดุที่ส่งมาจากต้นทางนั้นเป็นของอะไรมากกว่า

การคัดกรองอาการจะเริ่มคัดกรองที่อุณหภูมิไข้ที่เท่าไหร่ ถึงควรไปพบแพทย์?
ขณะนี้การคัดกรองไม่ได้ดูที่อุณหภูมิเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูปัจจัยอื่นร่วมว่ามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวหรือไม่ ประชาชนทั่วไปเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว เริ่มมีไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล 1-2 เม็ดในผู้ใหญ่ หากรับประทานไปแล้วมีอาการไม่ดีขึ้น และมีอาการไม่อยากรับประทานอาหารร่วมด้วย นั่นคือ สัญญาณเตือนว่าให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาอาจจะยังไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน หากผู้อื่นรับธนบัตรหรือสัมผัสกันผ่านการส่งของ จะติดเชื้อด้วยหรือไม่?
กรณีนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของไวรัสที่ผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งของต่างๆ หากขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจนก็อาจมีปริมาณไวรัสที่ยังน้อย อาจจะไม่ต้องกังวลมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสัมผัสกับสิ่งของอะไรแล้วก็ควรจะล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อ

โรคจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา รักษาหายหรือไม่ ทำไมจึงมีผู้ป่วยเสียชีวิต?
ในขณะนี้มีการเสียชีวิตแล้วแน่นอนในรายที่อาการรุนแรงถึงขั้นมีอาการปอดบวม เป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีอาการปอดบวมร่วมด้วย การรักษาจึงต้องใช้วิธีการประคับประคองจนกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายขจัดเชื้อไวรัสไป กรณีอันตรายคือไวรัสชนิดนี้สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย เป็นผลร้ายต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มียารักษาหรือไม่?
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนในการรักษา แต่ขณะนี้ทั่วโลกและทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ของประเทศไทยกำลังร่วมกันกับคณะวิจัยต่างประเทศเร่งคิดค้นและพัฒนารุ่นยาอยู่

สัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น สุนัข แมว สามารถเป็นตัวพาเชื้อได้หรือไม่?
ขณะนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยง แต่อย่างไรก็ตามในสภาวะเช่นนี้ ควรจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในระบบปิด เพื่อความปลอดภัย

สถานการณ์ขณะนี้จะรุนแรงเทียบเท่ากับการเกิดโรคอีโบลาหรือไม่?
ตรงนี้บอกยากมาก เนื่องจากโรคอีโบลามีลักษณะการเสียชีวิตที่น่ากลัว แต่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีอาการที่เริ่มจากอาการน้อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอาการหนักที่สุดในระยะ 10-14 วัน เพราะฉะนั้นอาการจะไม่รุนแรงในทันทีทันใด จึงจะต้องเทียบเคียงกับอัตราของการเข้าโรงพยาบาล การเข้าห้องไอซียู การใช้เครื่องช่วยชีวิตหรือเครื่องช่วยหายใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงมาก เพราะโรงพยาบาลทุกแห่งจะเป็นอัมพาตกันหมด เนื่องจากมีผู้ป่วยอยู่เยอะ และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน?
ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่าสามารถอยู่ในสภาพอากาศใดได้นานแค่ไหน

หากมีการพัฒนาวัคซีนหรือเซรุ่มสามารถต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้แล้ว อนาคตเชื้อจะพัฒนาตัวเองมากขึ้นและเกิดการดื้อยาได้หรือไม่?
คงไม่ใช่ หากว่าเราสามารถใช้ยากับผู้ที่มีอาการป่วยได้ เชื้อในส่วนนั้นอาจจะสงบลงไปได้ แต่เชื้อบางส่วนอาจหลบเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ยาเข้าไปไม่ถึงได้ เช่น ผู้ที่รอดจากเชื้อโรคอีโบลา แต่ใน 2 ปีหลังจากนั้นเกิดอาการของโรคสมองอักเสบ เยื่อประสาทตาอักเสบได้ หรืออาจจะกรณีโรคสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อของค้างคาว เมื่อรักษาด้วยยาหายแล้วแต่หลังจากนั้นก็เกิดอาการของโรคซ้ำขึ้นอีกได้

จะต้องอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้อีกนานแค่ไหน?
ขณะนี้จะต้องเฝ้าดูสถานการณ์โดยตลอด เนื่องจากการเฝ้าระวังได้ยกระดับมาสูงสุดแล้ว สถานการณ์จะมีความยืดเยื้อ อย่างน้อยประมาณ 3 เดือน

“โรคนั้นมีหลายระดับ เริ่มจากระดับไข้หวัด คัดจมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ไปจนถึงขั้นวิกฤตรุนแรงถึงขั้นเข้าห้องไอซียู ดังนั้นจะต้องพิจารณาเป็นกรณี แต่ไม่ใช่การบอกว่าโรคนี้ไม่อันตราย หากผู้คาดว่าตัวเองมีอาการเริ่มป่วย หากเบื้องต้นมีอาการไม่มาก แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล แยกตัวออกจากผู้อื่น รวมไปถึงแยกภาชนะเครื่องใช้ เพื่อสังเกตดูอาการของตัวเอง หากไม่มีอาการรุนแรงขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเลยก็ได้ เนื่องจากการไปโรงพยาบาลนั้นอาจจะเป็นช่องทางที่สามารถรับเชื้อโรคต่างๆ เข้ามาสู่ร่างกายได้เช่นกัน”Ž ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image