3หน่วยงานรัฐจับมือตรวจสุขภาพ “คนขับรถแท็กซี่” สกัดโรคทางเดินหายใจ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต จ.สมุทรปราการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถแท็กซี่ ปี 2563 พร้อมร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อตรวจสุขภาพผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคและภัยสุขภาพ และอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

นพ.สุวรรณชัย ให้สัมภาษณ์ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ให้ความสำคัญในสุขภาพกลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถแท็กซี่ โดย สธ. กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันตรวจสุขภาพและประเมินความพร้อมด้านร่างกายของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ก่อนการขับขี่ (Fitness to Drive) ภายใต้แนวคิด “ตรวจสุขภาพแท็กซี่ ท่องเที่ยวมั่นใจ ปลอดภัย ปลอดโรค” สร้างความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยมีความเสี่ยง 2 ด้าน คือ โรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากรถแท็กซี่ติดตั้งระบบปรับอากาศ มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่และรับโรคติดต่อทางเดินหายใจได้ง่าย และความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากมีกิจกรรมทางกายน้อย จึงได้จัดโครงการบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถแท็กซี่ ปี 2563

Advertisement

“ในปีนี้จะให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนกว่า 3,000 คน ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เอกซเรย์ปอด ทดสอบการมองเห็นระยะไกล หากพบเจ็บป่วยจะได้ส่งดูแลรักษาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ดูแลสุขภาพ ทราบสถานะสุขภาพของตน โดยมีบริการทั้งเชิงรับที่สถาบันของกรมควบคุมโรค ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร, สถาบันราชประชาสมาสัย และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และบริการเชิงรุกตรวจสุขภาพเคลื่อนที่แก่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ/ดอนเมือง, TOT Academy โดย บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, สำนักงานขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะมากกว่า 350,000 ราย ร้อยละ 34 ขับขี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพของกลุ่มผู้ขับรถโดยสารสาธารณะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในปี 2559 พบผู้ป่วยวัณโรค ร้อยละ 2 และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“การตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ในครั้งนี้ นอกจากผู้ขับขี่ได้รับการประเมินสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันให้มีสุขภาพที่ดี ยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารว่าจะไม่ได้รับเชื้อโรคจากการใช้บริการรถสาธารณะ เกิดความมั่นใจทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image