ตรวจพบ รพ.เขตสุขภาพที่ 7 ทำ ‘เวชระเบียน’ ผิดจนขาดทุน

วันที่ 28 มกราคม ศ.พิเศษ นพ.สมพร โพธินาม ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในพื้นที่เขต 7 พบว่ามีหลายโรงพยาบาลที่มีความผิดพลาดในการส่งเบิกชดเชยค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ได้รับเงินชดเชยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาล

“ตัวอย่างความผิดพลาด มีตั้งแต่การวินิจฉัยโดยไม่มีหลักฐานระบุในเวชระเบียน เช่น วินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแต่ไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคร่วม อาทิ คนไข้เป็นโรคไตวาย ก็บันทึกรายการส่งเบิกแต่โรคไตวาย แต่ไม่ระบุว่าเป็นเบาหวานด้วย ส่วนที่เป็นเบาหวานจึงไม่ได้ส่งเบิก หรือกรณีเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งแล้วมีการอักเสบในช่องท้องหลังผ่าตัดต้องให้ยาราคาแพง แต่เวลาบันทึกข้อมูลบอกว่าผ่าตัดอย่างเดียว ก็ได้แต่เงินชดเชยผ่าตัด” ศ.พิเศษ นพ.สมพร กล่าวและว่า การบันทึกและสรุปเวชระเบียนเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่พบว่าในหน่วยบริการส่วนใหญ่ แพทย์ใช้ทุนเป็นผู้ดำเนินการโดยขาดความรู้และทักษะ อีกทั้งมีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก

ศ.พิเศษ นพ.สมพร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ให้รหัสโรคและหัตถการในหน่วยบริการมีความรู้และทักษะน้อย บางแห่งไม่มีการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ให้ต่อเนื่อง และบางหน่วยบริการมีผู้ให้รหัสโรคเพียง 1 คน และมีบทบาทหน้าที่หลายอย่างและขาดการประสานงานที่ดีกับแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค จึงทำให้การให้รหัสไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การส่งเบิกชดเชยไม่ถูกต้องด้วย ในส่วนของการบันทึกข้อมูลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคล (ข้อมูล 43 แฟ้ม) พบว่าหน่วยบริการส่วนมากมีการบันทึกข้อมูลการให้บริการฝากครรภ์คุณภาพและการตรวจมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าความเป็นจริง และข้อมูลขาดความสมบูรณ์ จึงเสนอให้แพทย์จบใหม่เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะการสรุปเวชระเบียนก่อนบรรจุออกไปใช้ทุนในหน่วยบริการ รวมทั้งผู้ให้รหัสโรคและหัตถการควรมีอย่างน้อย 2 คน และหน่วยบริการควรมีการตรวจสอบเวชระเบียนและข้อมูลทั้งระบบภายในและมีการตรวจสอบจากกรรมการภายนอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image