“หมอยง” ชี้ “ไวรัสอู่ฮั่น” ระบาดเร็วกว่า “ซาร์ส” หลายเท่า ห่วงบางปท.ถ้าคุมไม่ดีเจออีกช่วงหน้าฝน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายถึงการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น ว่า แนวโน้นการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ในทุก 6-7 วัน และพบนอกสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 25 ประเทศ

ศ.นพ.ยง ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รวดเร็วกว่าโรคซาร์ส (SARS) หลายเท่าตัว เพราะผู้ป่วยมีอาการน้อย และเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค ประกอบการยอดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจึงเป็นการยากที่จะติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยจะทำได้คือ ต้องชะลอการระบาดด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน โรคทางเดินหายใจก็จะพบน้อยลงมาก ทำให้พอมีเวลาเตรียมตัวรับมือ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนการระบาดก็จะเป็นไปได้ง่ายมากเหมือนโรคทางเดินหายใจที่มีมากในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สิ่งที่น่าห่วงอย่างมาก คือ ประเทศที่มีกระบวนการตรวจสอบหรือควบคุมได้น้อย ถ้าเกิดเป็นจุดระบาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ จะยิ่งยากต่อการควบคุม ดังนั้นทุกประเทศต้องร่วมมือกัน

ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวระบุว่า

การระบาดของโรคปอดบวมฮั่น โคโรน่าไวรัส
แนวโน้มการระบาดยังเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวในทุก 6-7 วัน
การเพิ่มขึ้นจึงเป็นแบบเอกซ์โพเนนเชียล และพบนอกประเทศจีนกว่า 25 ประเทศ
การระบาดรวดเร็วกว่า SARS หลายเท่าตัว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เป็นจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัย
ยอดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงเป็นการยากที่จะติดตามผู้สัมผัสได้ทั้งหมด
สำหรับประเทศไทย จะต้อง delay ด้วยการป้องกัน ไม่ให้เกิดการติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากที่สุด
โชคดีของประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน โรคทางเดินหายใจ ก็จะพบน้อยลงอย่างมาก
ทำให้พอมีเวลา เตรียมเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน การระบาดจะเป็นไปได้ง่ายมาก เหมือนโรคทางเดินหายใจที่จะมีมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
ตัวเลขที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ ที่เพิ่มขึ้นนอกประเทศจีน จะเห็นว่าประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลี อยู่ในลำดับต้นๆ ตัวเลขเป็นเพียงบ่งบอกว่า ประเทศดังกล่าวมีระบบการตรวจสอบที่ดี สามารถวินิจฉัยแต่เริ่มแรกและเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรค ไม่ควรจะไปยึดถือตัวเลข
ขณะนี้ที่เป็นห่วงอย่างมาก คือประเทศที่มีกระบวนการตรวจสอบหรือควบคุม ได้น้อย ถ้าเกิดเป็นจุดระบาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ จะยิ่งยากต่อการควบคุม
ดังนั้นทุกประเทศในโลกนี้ จะต้องช่วยกันประสานมือร่วมกัน ทั้งประเทศที่มีความสามารถ และมีความสามารถน้อย และทุกคนในโลกเรานี้ ก็ต้องช่วยกันทุกคน จึงจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image