แพทย์เผยวิธีรักษาผู้ป่วย ‘โคโรนา’ ถ่าย ‘น้ำเหลือง คนหายแล้วให้’ 2 รายอาการรุนแรง ลุ้นผล 11 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้การรักษาผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย ได้ใช้วิธีการใช้น้ำเหลืองของเลือดมีมาจากการบริจาคในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันนี้

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า ได้ใช้น้ำเหลืองของคนขับรถแท็กซี่อดีตผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปให้ในผู้ป่วยที่ทำการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 2 ราย คือ ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันอายุ 70 ปี ที่มีการติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย และผู้ป่วยอาการรุนแรง 1 ราย อายุ 33 ปี โดยทั้ง 2 ราย รักษาอยู่ในสถาบันบำราศนราดูร และจะต้องดูผลการตอบสนองการรักษาใน 48 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ได้ให้เลือดไปแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง คาดว่าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ จะทราบผลการรักษาในเบื้องต้น

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า โดยปกติของการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ก็จะมีวิธีการนำผู้ที่หายจากการป่วยและมีภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนอยู่ในร่างกาย ซึ่งดีที่สุดคือระยะเวลา 1 เดือนหลังจากที่หายแล้ว โดยการสกัดเลือดให้เป็นน้ำเหลืองเลือดที่มีภูมิต้านทานหรือเรียกว่า “แอนติบอดี้” และนำมาให้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันผู้ที่รับเลือดไปนั้นยังมีอาการป่วยอยู่ และเชื้อมีการทำลายอวัยวะบางส่วนในร่างกายไปแล้ว ดังนั้น การให้น้ำเหลืองเลือดไปแล้วจะต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นตัว

“การที่ให้ไปแล้วจะเป็นปาฏิหาริย์ให้หายทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ซึ่งทั้งสอง 2 คน ก็ได้รับไปแล้ว แต่ถ้าเกิดเรามองว่าประเทศจีนขณะนี้มีผู้หายแล้ว 3,000 คน ดังนั้น จีนจึงกำลังศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อยู่และรู้สึกค่อนข้างตรงตามทฤษฎีทางการแพทย์ จึงเรียนให้ทราบว่ามีการให้ในผู้ป่วยไปแล้วแต่จะต้องรอผลระยะหนึ่ง” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวและว่า ในการให้ยาต้านไวรัสในขณะนี้ ข้อมูลยังไม่ชัดเจนเนื่องจากยาต้านไวรัสจะต้องทำออกมาเฉพาะเชื้อ แต่ในการให้ภูมิคุ้มกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเชื้อนี้โดยตรงจะเหมาะสมมากกว่า เพราะว่าการให้ภูมิคุ้มกันนั้นมีข้อมูลตั้งแต่เกิดโรคซาร์สและโรคเมอร์สแล้ว จึงนำมาใช้ในผู้ป่วยไวรัสโคโรนา2019

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

Advertisement

 

ทั้งนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยคนไทยที่หายแล้ว และสามารถนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยคนอื่นได้เพียง 1 ราย เป็น คนขับแท็กซี่ ดังนั้นจึงมีเลือดที่จะนำไปใช้มีปริมาณน้อย เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อที่หายแล้วใน จ.นครปฐม มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งตามหลักการบริจาคเลือดนั้นไม่สามารถบริจาคเลือดได้ การให้เลือดแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งไม่เหมือนกับการรับวัคซีนที่จะต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ และในขณะยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้เลือดเช่นนี้จะต้องดูหมู่เลือดอย่างไร รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า ในตอนแรกมีความกังวลเรื่องหมู่เลือด แต่ในส่วนของความเกี่ยวข้องเรื่องหมู่เลือดจะมีผลในการให้เม็ดเลือด แต่กรณีนี้เป็นการให้น้ำเหลืองเลือด ซึ่งจะสกัดเอาส่วนที่เป็นหมู่เลือดที่ไม่ตรงกันออกไป ดังนั้นจะเหลือเพียงน้ำหลืองที่มีความเข้มข้นของแอนติบอดี้ที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ค่อนข้างสูงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image