“กฤษฎีกา” สรุปความเห็นปม “ที่ดินปารีณา” แล้ว ระบุชัด “ยังเป็นพื้นที่ป่า”

“กฤษฎีกา” สรุปความเห็นปมที่ดิน”ปารีณา”แล้ว ระบุชัดยังเป็นพื้นที่ป่า แม้จะมีพ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการเพิกถอนสภาพป่า จนกว่าจัดสรรให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้สปก.-กรมป่าไม้ร่วมดำเนินคดีกับผู้บุกรุก

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นมายังกรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่ขอหารือแนวทางกฏหมายในการบังคับใช้กับผู้ถือครองที่ดินในเขตป่าไม้ ทับซ้อนกับเขตประกาศปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อหาข้อยุติทางกฏหมายกรณีที่ดินเขาสนฟาร์ม ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ถือครองโดย น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) โดยมีความเห็นว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวยังถือเป็นที่ป่า

ทั้งนี้ กรมป่าไม้มีหนังสือ ด่วนที่สุดลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 อนุมัติให้ปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้จําแนกไว้ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร และมติ ครม.เมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2536 ให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรที่เสื่อมสภาพแล้วและที่มีราษฎรเข้าถือครอง ทํากินอยู่ให้ส.ป.ก.นําไปปฏิรูปที่ดิน และระหว่าง ส.ป.ก. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ หน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักในการดําเนินคดี ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การเพิกถอน ป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามมาตรา 26(4) แห่งพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงการกําหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทําการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที

Advertisement

กรณีที่ครม.มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบแปลงพื้นที่ที่มีราษฎรยึดถือครอบครองทําประโยชน์อยู่แล้วเพื่อให้ราษฎรได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ.กําหนด เขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแปลงใดแล้วนั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติในทันที แต่ยังต้องดําเนินการในขั้นตอนของการปฏิรูปที่ดินตาพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ต่อไปด้วย

“ดังนั้นการจะบังคับใช้หรือผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินประกอบด้วย กล่าวคือ หากพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินยังไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพ.ร.บ.ป่าสงวน แห่งชาติ พ.ศ. 2507และอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว”รายงานระบุ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

รายงานระบุว่า หรือแม้จะเป็นกรณีที่ พ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว แต่โดยที่ที่ดินของ ส.ป.ก. ในส่วนที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้นยังคงมี สถานะเป็น “ป่า” ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ เนื่องจากการถือกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 36 ทวิ 7 แห่งพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิใช่กรณีบุคคลได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 38 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงยังคงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะอื่นๆ ด้วย เท่าที่ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

รายงานระบุว่า ส่วนกรณีที่ ครม.มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบแปลงพื้นที่ที่มีราษฎรยึดถือครอบครองทําประโยชน์อยู่แล้วเพื่อให้ราษฎรเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาได้มีพ.ร.ฎ.กําหนด เขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแปลงใดแล้วนั้น จะมีผลทําให้ราษฎรที่อยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติอยู่เดิมก่อนที่จะมีพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ได้รับการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป่าไม้หรือไม่ อย่างไร นั้น เห็นว่าโดยที่พ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นเพียงการกําหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทําการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิมจนกว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดําเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกําหนดต่อไป

“บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ”รายงานระบุ

รายงานระบุว่า เมื่อพบการกระทําความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีอํานาจจับกุม ปราบปรามผู้บุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่มีผู้บุกรุก เข้าไปยึดถือ ครอบครอง หรือทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน ส.ป.ก. จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงมีสิทธิที่จะกล่าวโทษผู้กระทําความผิดเพื่อให้ดําเนินการตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ เมื่อที่ดินของ ส.ป.ก. ในส่วนที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ ทางกรมป่าไม้ ยังคงมีหน้าที่และอํานาจในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่า และหากเป็นกรณีที่ที่ดินนั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจาก ส.ป.ก. ยังไม่ได้นําที่ดินป่าสงวนแห่งชาตินั้นไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกําหนด ก็จะเป็นหน้าที่และอํานาจของกรมป่าไม้ในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น

“ด้วยเหตุนี้ กรมป่าไม้ และส.ป.ก. ต่างก็มีหน้าที่และอํานาจดูแลรักษาที่ดินป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมร่วมกันตามขอบเขตอํานาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน”รายงานระบุ
รายงานระบุว่า เมื่อมีพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ใดแล้ว จะถือว่าพ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีสถานะเช่นเดียวกับเขตที่ได้จําแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ป่าไม้ ได้หรือไม่ อย่างไรนั้น เห็นว่า เขตที่ได้จําแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม แห่งพ.ร.บ.ป่าไม้นั้น ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) เป็นเขตที่ได้มีการจําแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และ (2) รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพ.ร.บ.ป่าไม้ ได้ประกาศเขตหรือพื้นที่นั้นในราชกิจจานุเบกษา แต่โดยที่พ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่ออกตามความในพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น เป็นเพียงการกําหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทําการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสํารวจรังวัด

“และปรากฏข้อเท็จจริงตามคําชี้แจงของผู้แทนกรมป่าไม้ว่า ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดให้เขตปฏิรูปที่ดินตามพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเขตที่ได้จําแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมแต่อย่างใด กรณีจึงมิอาจถือได้ว่าเขตปฏิรูปที่ดินตามพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดิน หรือมีสถานะเช่นเดียวกับเขตที่ได้จําแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ”รายงานข่าวระบุ

ด้านนายจุมพฏ ชอบธรรม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมป่าไม้ กล่าวว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ให้ทีมกฎหมายศึกษารายละเอียดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจน โดยอธิบดีกรมป่าไม้จะนัดหารือกับเลขา ส.ป.ก.เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายธวัชชัย ลัดกลูด ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6(อุดรธานี) กรมป่าไม้ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบที่ดิน น.ส.ปารีณา จะลงพื้นที่เพื่อชี้จุดที่น.ส.ปารีณา บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 46 ไร่เศษ และจะไปตรวจสอบพื้นที่ สปก.อีก 682 ไร่ที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย

นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนการดำเนินคดีกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดาของน.ส.ปารีณา ในพื้นที่ หมู่ 9 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หลังพบว่านายทวี บุกรุกพื้นที่รัฐกว่า 1,000 กว่าไร่ เป็นพื้นที่ สปก.กว่า 600 ไร่ และพื้นที่ป่ากว่า 392 ไร่นั้น ยังไม่มีการแจ้งความนายทวี เพราะช่วงระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ไม่พบตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้นต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานสอบสวนสอบสวนสภ.สวนผึ้งตรวจสอบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image