ตั้งคลินิก “หมอใจ” ที่เทอร์มินอล 21 รอบ 6 วัน พบ 274 คน ทุกข์ใจ!! ต้องติดตาม

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดบริการดูแลสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ผลการดำเนินงานของทีมเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต หรือทีมเอ็มแคท ( MCATT) ในรอบ 6 วัน ได้ให้บริการดูแลตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบตามแผนการที่กำหนด ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ที่มีความเครียดสูง ต้องได้รับการดูแลประคับประครองจิตใจอย่างต่อเนื่องรวมทั้งหมด 274 คน คิดเป็นร้อยละ 13.09 ของจำนวนที่ได้รับการตรวจทั้งหมด 2,093 คน โดยเป็นกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้บาดเจ็บ และญาติมากที่สุด จำนวน 118 คน เป็นกลุ่มผู้ที่อยู่ภายในห้างเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา และผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ จำนวน 114 คน ที่เหลืออีก 42 คน เป็นประชาชนที่เครียดจากการติดตามข่าวสารตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในส่วนของการดูแลผู้ประสบเหตุการณ์ครั้งนี้ ดำเนินการในกลุ่มของญาติผู้เสียชีวิตและกลุ่มที่บาดเจ็บและญาติครบ 100% แล้ว ส่วนในกลุ่มที่ต้องเร่งดำเนินการให้ครบถ้วนโดยเร็ว คือ ตัวประกัน กลุ่มผู้อยู่ในห้างเทอร์มินอล 21 และผู้เห็นเหตุการณ์ที่จุดเกิดเหตุอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ จัดบริการได้ถึงตัว ได้ร้อยละ 39 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนที่คาดว่าจะมีประมาณ 1,800 คน

“ในวันนี้ กรมสุขภาพจิตได้ปรับแผนการทำงานเชิงรุกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ได้ตั้งคลินิกหมอใจภาคสนาม ประจำที่ห้างเทอร์มินอล 21 คล้ายเป็น รพ.จิตเวชขนาดย่อย ตั้งอยู่ที่ชั้น G ของห้าง จัดผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร เป็นต้น พร้อมเวชภัณฑ์ยาจำเป็น และรถพยาบาล ในเบื้องต้นประจำการ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อบริการทั้งตรวจความเครียด ปรึกษาปัญหาทางจิตใจต่างๆ ฟรี เพื่อเป็นเพื่อนใจให้แก่ผู้ที่อยู่ภายในห้างทุกคนทั้งผู้ประกอบการ ผู้ที่เข้าไปช้อปปิ้ง ตลอดวันทำการอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ สำรองเตียงไว้ 20 เตียง เพื่อรองรับในรายที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ และสามารถขยายเพิ่มได้อีกหากจำเป็น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า สำหรับส่วนที่ 2 การเร่งขยายผลบริการให้ครอบคลุมชุมชนในจ.นครราชสีมา เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา จัดบริการตรวจคัดกรองความเครียดใกล้บ้านที่สุด คือ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมค้นหาผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อส่งเข้ารับการตรวจประเมินที่ รพ.สต. และจัดระบบการดูแลรายที่มีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่กำหนด

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

Advertisement

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับการดูแลจิตใจในช่วงนี้ หลังจากเหตุคลี่คลายไปแล้ว ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ สามารถไปเที่ยวพักผ่อนที่ห้างสรรพสินค้าได้เหมือนเดิม ผู้ที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางจิต ขอให้กินยาอย่างต่อเนื่อง อย่าขาดยา ในส่วนของประชาชนทั่วไป หากประชาชนรายใด มีอาการไม่สบายใจ เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ฝันร้าย เห็นภาพร้ายๆ ผุดขึ้นมาบ่อยๆ หรือได้ยินเสียงเหตการณ์วนเวียนก้องอยู่ในหูบ่อยๆ รู้สึกไม่อยากพูดคุยกับใคร อารมณ์หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย หายใจไม่ค่อยอิ่ม อย่าทนอมทุกข์ไว้ เนื่องจากจะทำให้ความเครียดสะสม ขอให้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง รวมทั้งที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ หรือโทรขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ โทร.0 4423 3999 หรือที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image