สธ.ยกร่าง “โควิด-19” เข้า พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย ดันขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาอีโบล่าใช้ในผู้ป่วย

สธ.ยกร่าง “โควิด-19” เข้า พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย ใช้กฎหมายเอาผิดผู้ฝ่าฝืน ดันขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาอีโบล่าใช้ในผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษก สธ. แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรพยาบาล(รพ.) 18 ราย ส่วนใหญ่อาการดี รอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ(แลป) เป็นลบ กลับบ้านแล้ว 17 ราย รวมสะสม 35 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่ รพ. เอง 994 ราย ในจำนวนนี้แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 81 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ. 191 ราย สถานการณ์ทั่วโลกใน 28 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 75,725 ราย เสียชีวิต 2,126 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 74,577 ราย เสียชีวิต 2,118 ราย กรณีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 ใช้เครื่องเอคโม(ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ในวันนี้ อาการดี ทำตามคำสั่งได้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ผลลบ รายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ โดยทั้ง 2 คน ได้รับยา ฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) ครบ 5 วันแล้ว

 

Advertisement

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน การประชุมมีนโยบาย 2 ส่วนหลักคือ 1.การดูแลรักษาพยาบาล จะมี สธ.เป็นหน่วยงานหลักประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวในการดูแลรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีผู้ป่วยก็จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว และหากมีผู้ป่วยมากขึ้นในอนาคต จะมีสถานพยาบาลรองรับที่เพียงพอ เช่น สถานพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีคุณภาพสูง 2.การชะลอหรือป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด เช่น คำแนะนำการล้างมือ การใช้หน้าอนามัยแบบผ้า โดยเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศทราบว่าประเทศไทยมีมาตรการที่ดีในการควบคุมโรค ไม่มีการปิดบัง หรือ บิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มคัดกรองทุกสนามบิน แจกบัตรคำแนะนำสุขภาพให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และสถานบริการต่างๆ และที่สำคัญเรามีบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครที่ความสามารถ ทุ่มเท เสียสละ ขอเชื่อมั่น ให้กำลังใจและให้ความร่วมมือ

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคไวรัสโคโรนา 2019 ได้ผ่านการพิจารณาจากกรรมการวิชาการในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและอยู่ในระหว่างจัดทำร่างการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรคติดต่ออันตราย เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน ในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณายกร่างมี 4 หลักเกณฑ์ที่เทียบเคียงกับการประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) ขององค์การอนามัยโลก(WHO) คือ 1.โรคที่ไม่คาดว่าคิดว่าจะเกิด ซึ่งในกรณีนี้เป็นเชื้อใหม่และไม่เคยเจอมาก่อน 2.มีความรุนแรง เช่น อันตราการป่วย เสียชีวิตสูง การแพร่ระบาดเร็ว 3.มีการแพร่ระบาดข้ามประเทศ และ 4.มีการจำกัดการเดินทาง/การค้า ซึ่งหากมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายไปแล้วจะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินการในระดับที่สูงอยู่แล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยยังน้อยการบริหารจัดการในด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวน การรักษาพยาบาลจึงดำเนินการได้ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่หากในอีก 2 เดือนอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ก็จะสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน สำหรับกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงการพบผู้ป่วยที่อาจจะมีแนวโน้มมากขึ้นในหลายประเทศจึงจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายในการดูแลควบคุมโรค เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการให้ผู้เดินทางเข้าประเทศอยู่ในบ้านครบ 14 วันก่อนออกไปที่อื่นๆ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ หากไม่ปฏิบัติก็จะมีโทษตามกฎหมาย

“มีความเป็นไปได้สูงว่าคณะกรรมการจะลงมติเห็นชอบเพื่อ ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการประกาศแต่การปฏิบัติจริงตอนนี้เราได้ทำเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การติดตาม การเตรียมความพร้อมของห้องแยกโรค เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ.ยังคงเข้มการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค ทั้งผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ทั้งทางท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดน โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานปกครอง จึงทำให้การคัดกรองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาด ก็จะสามารถตรวจพบได้ รวมถึงคำแนะนำผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาด ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เรือสำราญ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาด จะต้องผ่านการคัดกรองอาการของโรคติดต่อทางเดินหายใจ เพื่อค้นหาผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อ โดยใช้เกณฑ์การวัดไข้ที่ 37.5 เซลเซียส และหากมีอาการของระบบทางเดินหายใจก็จะให้มีการตรวจซ้ำเพื่อความชัดเจน เนื่องจากการตรวจพบครั้งแรกอาจจะให้ผลที่คลาดเคลื่อน จึงจะต้องมีการตรวจซ้ำ หากมีไข้จริงถึงจะแยกเพื่อนำส่ง รพ.และเข้าสู่ระบบการรักษา แต่ถ้าหากไม่ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ แต่ให้สังเกตอาการป่วยภายใน 14 วัน เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคสั้นที่สุดคือ 2 วัน และยาวที่สุด 14 วัน หากกลับบ้านไปภายใน 14 วันมีอาการป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วมาพบแพทย์ และแจ้งว่าเคยเดินทางไปต่างประเทศ หากอาการหนัก ไม่สามารถเดินทางไปเองได้ให้โทร 1422 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มารับตัวไป รพ.

เมื่อถามว่ามีขั้นตอนอย่างไรในการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) เพื่อการรักษาผู้ป่วย นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ในช่วงต้นของการใช้ยารักษาผู้ป่วยจึงสามารถนำเข้ามาใช้ได้อยู่แล้ว แต่จะมีขั้นตอนของคณะกรรมการด้านยา ที่จะติดตามว่ายาดังกล่าวถูกนำเข้ามามีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ และยาตัวนี้โดยปกติเป็นยารักษาโรคที่มาจากไวรัส แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรายงานการใช้ยากับโรคไวรัสโคโรนา 2019

นพ.โสภณ กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศเพื่อใช้รักษาไวรัสของโรคอีโบล่า ซึ่งยังไม่เคยนำมาใช้รักษาโรคอีโบล่าในประเทศไทย แต่โดยปกติการนำเข้ายาจะต้องผ่านคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยาทุกตัวจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อระบุว่าใช้รักษาโรคใด ซึ่งการใช้ยารักษาโรคหนึ่ง แต่นำมาใช้เพื่อรักษาอีกโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น จะเป็นการใช้ยาในภาวะที่มีความจำเป็น เช่น รักษาชีวิตเนื่องจากไม่มียาที่ดีกว่า จึงเป็นข้อยกเว้นทางการแพทย์ เนื่องจากไม่สามารถเตรียมยาสำหรับโรคใหม่ได้หมด จึงจะต้องใช้ยาที่ขึ้นทะเบียนใช้รักษาโรคอื่นมารักษาโรคไวรัสโคโรนา 2019 หากได้ผลดีก็จะเป็นข่าวดีและเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยไวรัสโคโรนา2019 ในระยะต่อไปจะมีการขึ้นทะเบียนยาแต่อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ผลว่าสามารถรักษาผู้ป่วยได้ผลดี

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณีนี้มีการประเมินอยู่เป็นระยะ และประเทศที่เกิดระยะที่ 3 ในขณะนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและคาดว่ามีมาตรการเต็มที่แล้ว แต่ด้วยตัวของเชื้อไวรัสและช่วงของการระบาดที่เกิดในช่วงเทศกาลจึงยากในการป้องกัน แต่ในประเทศไทยมีช่วงของ Golden period หรือช่วงเวลาทอง ใน 2 เดือนข้างหน้า มีอากาศที่ร้อนมากและเป็นเดือนที่โรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสต่ำที่สุด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคมือเท้าปาก หากเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เป็นแบบเดียวกันกับเชื้อชนิดอื่น ปัญหาก็อาจจะไม่ลุกลามรุนแรง แต่ยังคงต้องป้องกันและควบคุมโรคต่อไป เพื่อการเตรียมความพร้อม การสื่อสารกับประชาชน การเตรียมสถานพยาบาล เตรียมอุปกรณ์ป้องกันและวางแผนการแก้ไขปัญหาโดยการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อถามว่าหากมีการจัดมหกรรมดนตรีหรือคอนเสิร์ตใหญ่ต่างๆ จะมีการจัดการอย่างไร หรือมีคำแนะนำอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า หากเป็นด้านกฎหมายขณะนี้ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่หากมีการประกาศให้โรคไวรัสโคโรนา2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ การประกาศเลื่อนจัดงานจะขึ้นอยู่กับบริบทในพื้นที่ซึ่งเป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น ผู้ว่า ในการประเมินความเสี่ยง ควรจะให้มีการจัดงานหรือไม่ แต่ที่ผ่านจะแนะนำผู้เข้างานว่าควรสวมใส่หน้ากากอนามัยในการเข้าร่วมงาน หากมีอาการป่วยก็ควรงดเข้างานและรักษาอาการป่วยให้หายดีก่อน ส่วนทางผู้จัดงานควรมีมาตรการการคัดกรองผู้เข้างานเช่น การตรวจวัดไข้ และหากมีผู้ที่มีอาการป่วย ไม่สามารถเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ ควรจะมีการคืนเงินค่าบัตรเข้างานให้เต็มจำนวน และอาจจะมีของแถมเล็กน้อยให้เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานเนื่องจากมีอาการป่วย รู้สึกว่าอยากให้ความร่วมมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image