เครือข่ายสตรี ตัดเกรดรัฐบาล F ชี้ ‘สอบตก’ มาตรฐานโลก ด้านปกป้องสิทธิผู้หญิง

เครือข่ายสตรี ตัดเกรดรัฐบาล F ชี้ “สอบตก” มาตรฐานโลก ด้านปกป้องสิทธิผู้หญิง

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (PI) จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง เนื่องในวันครบรอบ 103 ปีวันสตรีสากล พร้อมรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

นางสาวปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่นฯ  กล่าวว่า อนุสัญญา CEDAW เป็นกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและสนับสนุนความเสมอภาค ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และรัฐบาลไทยจะต้องรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW ทุกๆ 4 ปี ซึ่งก่อนที่คณะกรรมการ CEDAW จะมีการประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยต่ออนุสัญญา CEDAW ในรอบหน้าที่กำลังจะมาถึงในปี 2564 นี้

เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ได้ร่วมกันประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนธันวาคม2562 ว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW มากน้อยแค่ไหนในรูปแบบของการจัดเกรดให้คะแนน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในประเทศไทย ซึ่งสรุปได้ว่า

Advertisement

รัฐบาลไทยไม่มีการปฏิบัติใดๆ หรือมีการปฏิบัติในแบบที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอแนะ CEDAW ปี 2560 จำเป็นต้องปรับปรุงอย่างยิ่งก่อนจะมีการประเมินรัฐบาลไทยรอบหน้าในปี 2564

ปรานม สมวงศ์

นางสาวปรานม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เป็นการให้คะแนนตามข้อเสนอ 8 ประเด็นของคณะกรรมการ CEDAW ที่ให้ไว้แก่รัฐบาลไทย ดังนี้ 1.กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้คะแนนเกรด D- 2.การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา ให้เกรด F 3.ประสิทธิภาพและความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เกรด F 4.ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง ให้เกรด F  5.ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้เกรด F 6.ผู้หญิงชนบท ให้เกรด F  7.การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี ให้เกรด D- และ 8.ความยากจน ให้เกรด F โดยการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 เกรด เกรด A คือปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อเสนอของ คณะกรรมการ CEDAW อย่างน่าพึงพอใจ เกรด B มีการปฏิบัติตามพอสมควร เกรด C มีการปฏิบัติบ้างแต่ยังคงต้องปรับปรุง เกรด D มีการปฏิบัติบ้างแต่ถือว่าน้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง และเกรด F ไม่มีการปฏิบัติใดใดจากรัฐบาลหรือมีการปฏิบัติในแบบที่ตรงกันข้ามกับอนุสัญญาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW

Advertisement

นางสาวซินเธีย เวลิโก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) กล่าวว่า การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและเสรีภาพความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นดั่งแรงบันดาลใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ปัญหาความไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติ ถูกเปิดโปงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนกล่าวได้ว่า “มีความเท่าเทียมทางเพศ” ขณะเดียวกันนักปกป้องสิทธิคือผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลและภาคประชาสังคม แต่กลับถูกคุกคามข่มขู่ พวกเธอถูกมองว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง อ้างอุดมการณ์ ท้าทายบรรทัดฐานของสังคม และเป็นตัวก่อปัญหา แต่ดิฉันคิดว่าเราต้องเชิดชูพวกเธอที่เป็นแนวหน้า กล้าหาญที่จะต่อสู้ให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามทุกประเทศทั่วโลกต่างลงนามเข้าร่วม CEDAW ทั้งหมด เว้นเพียง 4 ประเทศที่ยังไม่ร่วมลงนาม อาทิ อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยได้ส่งรายงานการดำเนินงานตามข้อ้สนอแนะ CEDAW ไปแล้วทั้งหมด 5 ฉบับ โดยฉบับต่อไปจะต้องรายงานในปี 2564 นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image