‘มีชัย’ ประกาศชัด ไม่ล้ม ‘บัตรทอง’ ย้ำร่างรธน.ใหม่ดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยก่อนการประชุมฯ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูประบบสาธารณสุข” พร้อมถ่ายทอดเสียงไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้รับทราบสาระสำคัญของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขทำงานใกล้ชิดกับประชาชน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่จะถ่ายทอดเนื้อหา สาระสำคัญ จุดมุ่งหมายของร่างรัฐธรรมนูญไปสู่ประชาชนได้อย่างชัดเจนทั่วถึง

นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในด้านสาธารณสุข ยอมรับว่ามีความก้าวหน้า ไปไกล เร็วกว่าสาขาอื่นๆ มีแนวคิดที่ได้รับการยอมรับนับถือ แม้จะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ วิธีคิดของคนสาธารณสุขก็ก้าวหน้าไปแล้ว การเขียนไว้จึงเขียนไว้ว่าของใหม่ควรมีอะไร เสมอภาคยังไง ขจัดความเหลื่อมล้ำยังไง โดยได้กำหนดไว้ในหลายมาตรา โดยที่ได้เพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การดูแลประชาชนครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายให้มีความรู้ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ครบวงจร ให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปขยับขยายกิจกรรม เพื่องบประมาณดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีหมอประจำตัว ด้วยการสนับสนุนให้มีแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัว ควบคู่ไปกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขดีขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง

“สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีคนปล่อยข่าวว่าจะมีการยกเลิกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง มาตรา 258 (ช ข้อ 4) ยังรองรับกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่พยายามให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารกองทุน เพื่อใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ต่อประชาชนโดยตรง ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังไม่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูง ใช้เงินคุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญยังมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาอีกหลายๆ เรื่อง อาทิ เรื่องการศึกษา ซึ่งจะให้สิทธิในการเรียนภาคบังคับตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างที่ทราบว่าเด็กก่อนวัยเรียนช่วงอายุต่ำกว่า 6 ขวบซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาการมากที่สุด แต่กลับมีเพียงคนที่มีฐานะเท่านั้นที่สามารถนำบุตรหลานเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ก่อนวัยเรียนได้ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนมีรายได้น้อยนั้นเข้าไม่ถึง ขาดโอกาสที่จะพัฒนาตรงนี้ไป ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องเข้ามาปฏิรูปให้เด็กก่อนวัยเรียนได้รับการพัฒนาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากทำได้จะเพิ่มศักยภาพในการเรียนระดับที่สูงกว่านี้ และประเทศไทยจะมีคนที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ที่สำคัญเรื่องการศึกษาจะเน้นให้เด็กได้เรียนตามความสนใจของตัวเองมากกว่าการเรียนตามความสนใจของผู้ใหญ่ หรืองานด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image