ตามรอย ‘หน้ากากอนามัย’ จากโรงงานไปไหน?

การตื่นตัวของคนทั่วไปต่อการซื้อหาหน้ากากอนามัยมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ฝุ่นละออง PM 2.5 ภาครัฐยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรให้หมดไปอย่างยั่งยืน ก็มาเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีต้นต่อจากประเทศจีน และได้ลุกลามไปทั่วโลก จนเกิดความตื่นตระหนกต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อของการใช้ชีวิตประจำวัน

จึงเป็นที่มาของการหาซื้อหน้ากากอนามัย เพื่อให้ตนเอง และคนในครอบครัวไว้ใช้ เพิ่มทวีคูณเป็นสิบๆ เท่าในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หน้ากากอนามัยไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ใช้เฉพาะในวงการแพทย์เป็นหลัก

ที่ผ่านมามีการนำเข้าเสรี บางส่วนมีการนำเข้ามาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าผลิตในไทย บางองค์กรก็หันไปซื้อของถูกกว่าแทน ทำให้โรงงานที่เคยผลิตหน้ากากอนามัยแบบธรรมดากว่า 30 โรงงาน ลดลงจนเหลือ 9 โรงงานในวันนี้ และยังผลิตแค่ 60-70% ของกำลังการผลิตก็ขายแทบไม่หมด ขณะที่ยอดนำเข้าสูงถึง 20 ล้านชิ้นต่อเดือน

แต่เมื่อจีนเริ่มของการแพร่ระบาดโวรัสโควิด-19 ด้วยความรวดเร็วของการแพร่โรค และการป้องกันคนทั้งเมืองทั้งประเทศ จากเคยส่งออกก็ถูกระงับไปทั่วโลก รวมถึงไทย เดิมองค์กรนำเข้าจากต่างประเทศต้องหันมาหาซื้อในไทย บวกกับการตื่นของประชาชน ก็เกิดปรากฏการณ์แย่งชิงเหมือนครั้งแย่งชิงน้ำดื่ม หรือน้ำมันปาล์มอย่างในอดีต เกิดการฉวยโอกาสหากินเก็งกำไร หรือถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง แม้กระทั่งการนำหน้ากากใช้แล้วมาขาย และการนำหน้ากากไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย

Advertisement

กระทรวงพาณิชย์ในฐานะดูแลปัญหาปากท้อง ต้องออกมารับหน้า และเข้ากระบวนการตามหลักราชการคือ ลงไปสำรวจปริมาณสินค้า ราคาต้นทุน รวมถึงความต้องการใช้ พบว่าโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยสามารถขายปลีกได้ 2.50 บาท/ชิ้นในไทย ทั้งหมดมีแค่ 11 โรงงาน และผลิตออกสู่ตลาดเต็มกำลัง 100%

รวมแล้วเฉลี่ยประมาณ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน รวมทั้งเดือน 36-38 ล้านชิ้น ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบประกอบหน้ากากอนามัย บางส่วนต้องพึ่งพานำเข้า และเดิมเกือบทั้งหมดนำเข้าจากจีน

แรกๆ ก็ใช้การจัดสรรแบบกึ่งหนึ่งให้รัฐมาดูแล โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข อีกกึ่งหนึ่งต้องปล่อยไปตามกลไกการค้าปกติของโรงงานผู้ผลิตเอง แต่เมื่อสถานการณ์ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่ง ประกอบกับเสียงบ่นด่าว่าหาซื้อยาก และราคาแพงกว่าที่กรมการค้าภายใน ออกมาระบุว่าจำหน่ายชิ้นละ 2.50 บาทสูงเป็นสิบๆ เท่า เจอกันสูงสุดชิ้นละ 14-18 บาท ขณะที่วงการแพทย์และองค์กรต่างๆ ออกมาระบุหาซื้อไม่ได้แล้ว หน้ากากอนามัยหายไปไหนหมด

Advertisement

ทำให้กระทรวงพาณิชย์ เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระดมสมองหาทางออก จนได้ข้อสรุปให้รวมศูนย์ที่เดียวในการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่โรงงานผลิตได้ทั้งหมด และจัดสรรบนการพิจารณาของทุกฝ่าย จะมีการประชุมและพิจารณากระจายหน้ากากอนามัยเป็นรายวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563

เดิมข้อมูลการผลิตจากศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยระบุว่า มีกำลังการผลิตจำนวน 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน โรงงานส่งไปกระทรวงสาธารณสุข 7 แสนชิ้นต่อวัน เพื่อกระจายไปองค์การเภสัชกรรม 4.3 แสนชิ้น สถานพยาบาลเอกชน 1.4 แสนชิ้น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 6 หมื่นชิ้น และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 หมื่นชิ้น

ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม ศูนย์กระจายมีการปรับตัวเลข ระบุตัวเลขใกล้เคียงกับของเดิม คือ องค์การเภสัชกรรม 4.3 แสนชิ้น โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเอกชน 1.4 แสนชิ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 หมื่นชิ้น และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ 5.5 หมื่นชิ้น

ขณะที่หน้ากากอนามัย เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงรวมกันไว้ 5 แสนชิ้นต่อวัน

ส่วนนี้กระจายผ่านรถโมบายเคลื่อนที่ไปทั่วประเทศ 11 คัน รวม 3 แสนชิ้นต่อวัน อีก 2 แสนชิ้นต่อวันกระจายไปช่องทางค้าปกติ อาทิ ร้านค้า ร้านขายยา การบินไทย ไทยสมายล์ ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้ากว่า 1 พันแห่ง เป็นต้น โดยกรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือขายคนละ 1 แพค มี 4 ชิ้น ราคา 10 บาท

หากถามว่าหน้ากากอนามัยมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชนแล้วหรือยัง!!

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า “ต้องตอบตามความเป็นจริง ทุกวันนี้ผลิตได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน กระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยงในการทำงาน เช่น สนามบิน ศูนย์การประชุม และประชาชน หากคำนวณจากประชากร 65 ล้านคน และในจำนวนนี้ ถือว่ามี 10% จำเป็นต้องใช้แค่คนละ 1 ชิ้นต่อวัน ก็จะมีความต้องการสูงถึงวันละ 6.5 ล้านชิ้น หัก 1.2 ล้านชิ้น ก็ยังขาดอยู่ 5.3 ล้านชิ้น ยังไงก็ไม่พอ

กรมต้องบริหารจัดการตามความเร่งด่วน และความจำเป็น และขอความร่วมมือประชาชน ช่วยซื้อแต่พอใช้ อย่าซื้อกักตุน เพื่อให้คนข้างหลังได้มีโอกาสซื้อ แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปน่าจะดีขึ้น หลังจากรัฐบาลเร่งผลิตหน้ากากผ้า เพื่อเป็นหน้ากากทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้

ส่วนการนำเข้า ปกติเคยนำเข้าได้ 20 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัจจุบันอย่างมกราคมที่ผ่านมานำเข้าได้แค่ 1-2 ล้านชิ้นต่อเดือน และในจำนวนนี้เป็นหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวแค่ 7-8 แสนชิ้นเท่านั้น ถือว่ายอดลดลงมาก เพราะประเทศผู้ผลิตอย่าง จีน ญี่ปุ่น ห้ามการส่งออก ต้องหาทางเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ

ล่าสุด รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขแล้ว ทั้งการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ หรือสนับสนุนให้มีการลงทุนโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต จะเสนอ ครม.ในวันที่ 10 มีนาคมนี้”

อธิบดีกรมการค้าภายในยังบอกอีกว่า “ทางศูนย์ได้เร่งจัดส่งหน้ากากอนามัยไปให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่มีปัญหาขาดแคลนเป็นการเร่งด่วนแล้ว จะส่งให้รายที่มีปัญหาก่อน จากนั้นจะทยอยส่งไปให้ทุกที่ ปริมาณส่ง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการจำหน่ายให้กับประชาชน จะกระจายผ่านช่องทางที่มีอยู่ และจะเน้นผ่านรถโมบายมากขึ้น เพราะวิ่งตรงเข้าถึงชุมชนเลย ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเลิกการจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม”

สำหรับมาตรการด้านอื่น ภาครัฐพยายามหาทางเพิ่มปริมาณหน้ากากอนามัยในตลาด โดยการกระตุ้นนำเข้าหน้ากากอนามัย และไม่ต้องขาย 2.50 บาทต่อชิ้น เพียงผู้นำเข้าแสดงต้นทุนนำเข้าและสามารถบวกค่าบริหารจัดการ อาทิ ต้นทุนค่า บริหาร การขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าตอบแทน รวมกันไม่เกิน 60% จากต้นทุนนำเข้า เช่น สินค้านำเข้าราคา 100 บาท บวกได้เป็น 160 บาท หรือราคา 1 บาท บวกได้เป็น 1.60 บาท เป็นต้น พร้อมสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักร หรือวัสดุเพื่อการผลิตโดยรัฐยอมจ่ายอุดหนุนหรือลดหย่อนภาษี

ขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลาง 225 ล้านบาท จัดสรรให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล 7,774 แห่ง ตามจำนวนประชากร ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) แต่ละแห่งผลิตจำนวน 50 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศต่อไป

ตราบใดที่ปัญหาโควิด-19 ยังอยู่ จากนี้ที่ต้องติดตาม คือทุกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ สบู่ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น อาจรวมไปถึงการผลิตหน้ากากอนามัยจากวัสดุอื่น เช่น ผ้า ที่กำลังออกมารณรงค์ให้ใช้เป็นทางเลือกแทนหน้ากากอนามัยแบบแถบเขียว

สินค้าที่เกี่ยวข้องต่างก็มีความต้องการสูงขึ้นมากไม่แพ้กัน จะถึงขั้นต้องงัดมาตรการป้องปรามและเอาผิดตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการด้วยหรือไม่ หลังจากหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ถูกขึ้นเป็นบัญชีควบคุมราคาและขู่ว่าอาจใช้ 3 มาตราการห้ามขายแพงเกิน ต้องปิดป้ายแสดงราคา และต้องแจ้งปริมาณครอบครองไม่ให้เกินกำหนด

ฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท

แต่ทางที่ดีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้องชัดเจน น่าจะช่วยลดความตื่นกลัวได้ไม่มากก็น้อย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image