อีก 2 วัน “หมอ-พยาบาล” ไม่ขาด “หน้ากากอนามัย” ดึงโควต้าประชาชนมาใช้ก่อน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลนในโรงพยาบาล (รพ.) และเป็นปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์อย่างมากในขณะนี้

นายสาธิต กล่าวว่า กรณีของเรื่องหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ข่าวไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ไม่ได้ต้องการการระบุว่า หน้ากากไม่ได้ขาด ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์ก่อนหน้านี้ เรื่องหน้ากากอนามัยมีปัญหากับผู้ที่ใช้ เช่น แพทย์ พยาบาล และได้ทราบปัญหาจากทางระบบและสื่อออนไลน์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ได้พูดกันชัดเจนว่า จะจัดลำดับความสำคัญ คือ ให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงการใช้ ที่จะต้องห้ามขาด โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนที่ไม่ป่วย ไม่ต้องใช้หน้ากากอนามัยแต่หากจะใช้ก็ขอให้ใช้หน้ากากชนิดผ้า โดยกระทรวงมหาดไทยรับนโยบายไปว่า ให้ไปผลิตหน้ากากผ้าจำนวนทั้งสิ้น 50 ล้านชิ้น และให้แจกหน้าผ้าให้ประชาชนในท้องถิ่น ทาง สธ.มีคำสั่งให้อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 1,300,000 ชิ้น เพื่อแจกให้กับประชาชนที่ไม่ป่วย

นายสาธิต กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า จากเดิมที่ สธ.เคยได้โควต้าจำนวน 300,000 ชิ้นต่อวัน และ สธ.ยังต้องนำจำนวนไปกระจายให้กับ รพ.สังกัดเอกชน รพ.นักเรียนแพทย์รวมถึงคลินิกเอกชน จำนวนนี้น้อยเกินไป จึงขอให้จัดสรรเพิ่มให้กับ สธ. กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมกัน โดย สธ.ส่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นตัวแทนการประชุม จึงได้โควตาเพิ่มจาก 300,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 700,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งเป็นส่วนที่เฉลี่ยมาจากโควต้าที่จะนำไปขายให้กับประชาชน ที่จะต้องกระจายไปที่พาณิชย์จังหวัดเพื่อกระจายไปยังร้านค้าต่างๆ จากกำลังผลิตทั้งหมด 1,200,000 ชิ้นต่อวัน และในการประชุมชี้แจงชัดเจนว่าในกรณีข่าวโรงงานผลิตจำนวนไม่ถึง หรือมีการนำเอาออกไปขายหลังโรงงาน กระทรวงพาณิชย์ จึงส่งทหารและเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการผลิต เพื่อส่งหน้ากากอนามัยให้ถึงเป้าตามที่ตกลงกัน เช่น สธ.ต้องการ 700,000 ชิ้นต่อวัน เจ้าหน้าที่จะต้องไปดูว่าหน้ากากอนามัยเหล่านั้นส่งมาถึงองค์การเภสัช(อภ.) และ สธ. ให้ครบ 700,000 ชิ้นต่อวัน

“แต่มีการเจรจาว่าให้ในสถาบันและสมาคม รพ.เอกชนแยกโควต้าออกไป สรุป สธ. โดย อภ.ได้รับหน้ากากอนามัยจำนวน 430,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งเดิมได้จำนวน 300,000 ชิ้นต่อวัน และต้องนำไปกระจายให้กับสังกัดอื่นจึงเหลือเพียง 170,000 ชิ้นต่อวัน แต่ขณะนี้ได้เพิ่มเป็นทั้งหมด 430,000 ชิ้นต่อวัน สำหรับใช้ใน รพ.สังกัดสธ.และบางส่วนก็นำไปขายในเว็บไซต์ของ อภ.ราคาชิ้นละ 2.50 บาท และปัญหาในการขาดแคลนในการใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ จึงต้องลำเลียงหน้ากากอนามัยเหล่านี้ไปถึงผู้ใช้โดยไม่สูญหาย แต่ต้องยอมรับว่ามีหน้ากากอนามัยหลุดมาในตลาดมือที่ขายเกินราคา จึงจะต้องใช้การบริหารจัดการให้ อภ.ส่งหน้ากากอนามัยให้ถึงผู้ใช้ โดยจำนวนตามความจริง ไม่ให้สูญหายในระบบขนส่ง” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

นายสาธิต กล่าวว่า วิธีบริหารจัดการ คือ ให้ผู้ตรวจราชการทั้ง 12 เขตสุภาพ สำรวจจำนวนสำรองใช้ในแต่ละเขต ทั้งใน รพ.เล็ก และ รพ.ใหญ่ ต่างมีสำรองต่างกัน แต่ในเขตสุขภาพนั้นผู้ตรวจสุขภาพจะต้องเกลี่ยการใช้ไม่ให้ขาดแคลน พร้อมรอรับหน้ากากอนามัยที่จะนำเพิ่มเติมให้ และเพื่อเป็นการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ร้องเรียนมาได้ หากพบว่าขาดแคลน ก็จะต้องหาสาเหตุว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์จึงไม่มีหน้ากากอนามัยใช้ ขณะนี้หน้ากากอนามัยถูกส่งมาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ครบตามจำนวน และได้ลำเลียงไปยังผู้ตรวจเขตสุขภาพ เขตละ 30,000 ชิ้นทุกวัน เพื่อให้กระจายทุก รพ.ในสังกัด สธ.อย่างครบถ้วน ขณะนี้มาตรการคือจะต้องส่งข้อมูลทุกวันว่ามีการส่งสินค้าให้กับผู้ตรวจราชการแต่ละเขตจำนวน 30,000 ชิ้น 12 เขตสุขภาพ ว่าได้ครบจำนวนหรือไม่ และตรวจสอบต่อไปว่าผู้ตรวจราชการส่งมอบไปที่ใดบ้างในแต่ละเขตสุภาพ เพื่อป้องกันการรั่วไหล

“ภายใน 2-3 วัน หน้ากากอนามัยจะถูกลำเลียงไปถึงทุกหน่วยบริการตาโควต้าที่ได้เพิ่มขึ้น และการจัดการร่วมมือของฝ่ายบริหาร เพื่อให้หน้ากากอนามัยไปถึงผู้ปฏิบัติงานอย่างแท้จริง ที่มั่นใจเพราะว่าดูตัวเลขแล้วว่า บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล คนเข็นเปล แต่ละ รพ.มีการใช้แตกต่างกัน แต่วันหนึ่งใช้ประมาณ 300,000 ชิ้น แต่จะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเช่น เจ้าหน้าที่การเงิน ผู้บริหารที่ใช้เป็นหน้ากากชนิดผ้าได้ เฉลี่ย 300,000 ถึง 430,000 ต่อวันไม่รวมสต๊อกที่มีอยู่ จึงมั่นใจว่าหากกระจายตามนี้ สามารถพูดคุยให้กระจายไปยัง รพ.ทั่วประเทศของสังกัด สธ.ได้ จึงมั่นใจว่าวันพุธนี้เป็นต้นไป สถานการณ์การขาดหน้ากากอนามัยของหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะไม่ขาด แต่ยังคงรับเรื่องร้องเรียก หากใครยังไม่ได้รับ ต้องไปตรวจสอบว่ามันมีรูรั่วตรงไหน ต้องกำชับให้เด็ดขาดว่าในสายลำเลียงจะเล็ดลอดไปที่อื่นไม่ได้ ส่วนใน รพ.แพทย์และ รพ.เอกชน เขาได้รับการจัดสรรโดยตรง ไม่ผ่านทางกระทรวง และเขาได้ไปดำเนินการแล้ว” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ส่วนกรณีของการเผยแพร่ข้อมูลว่า สธ.ได้ออกคำสั่งว่าห้ามบุคลากรทางการแพทย์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการขาดแคลนหน้ากากอนามัยใน รพ. นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีนโยบายว่าห้ามโพสต์ข้อความ สธ.ได้จัดสรรเพิ่มให้แล้วแต่หากยังเป็นปัญหาอยู่ก็จะต้องมาพูดคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น หากสมมติว่า 1 คน จะต้องใช้วันละ 5 แผ่น และต้องใช้ 300,000 คน ก็คงไม่พอ ก็จะต้องไปเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพิ่ม

“เพราะถ้าเขามีใช้ เขาสบายใจ เขาก็คงไม่โพสต์ ต้องเข้าใจว่าเขาเสี่ยง ผมทำเรื่องนี้เพราะเห็นใจเขา เพราะเดิมได้ 300,000 ชิ้นต่อวัน ไปคุยมาก็ได้มา 700,000 ชิ้นต่อวัน วันนี้ต้องร่วมมือร่วมใจกัน รัฐบาลพูดชัดว่าต้องให้ความสำคัญอันดับ 1 กับบุคลาการทางการแพทย์ก่อน เราดึงจากส่วนของโควตาประชาชนมา เพราะถ้าประชาชนต้องใช้ก็ใช้หน้ากากผ้า” นายสาธิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image