“วราวุธ” ปลื้มผลงานยึดคืนผืนป่าได้กว่า 8 แสนไร่ ชี้ ชาวบ้านพอใจแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

“วราวุธ” ปลื้มผลงานยึดคืนผืนป่าได้กว่า 8 แสนไร่

“วราวุธ” แถลงการปฎิบัติงานคดีรุกป่าของทส. ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 รวม 29,350 คดี ยึดคืนพื้นที่ได้ 853,603 ไร่ พื้นที่ป่าเพิ่มอีก 3 แสนไร่ คทช.มอบที่ดินทำกินให้ปชช.รวม 1 ล้านไร่ ระบุกลุ่มชาวบ้านพอใจแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 มีนาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม

หลังการประชุมนายวราวุธ แถลงผลการปฏิบัติงานในคดีบุกรุกป่าว่า ทส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นของพื้นที่ป่าเน้นนโยบายที่ทำให้ป่าและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) พร้อมดำเนินการตามแผนงานหยุดยั้งการทำลายในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะกลุ่มนายทุน และฟื้นฟูผืนป่าด้วยการปลูกป่า ซึ่งทส.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า(ศปก.พป.) ในการดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีศูนย์ประสานการปฏิบัติการของทส. ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการ 4 ชุด ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้, ชุดพญาเสือ ชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, และชุดฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) พร้อมร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

Advertisement

นายวราวุธ กล่าวถึงสถิติการบุกรุกป่าว่า ในปีงบประมาณ 2562 หน่วยเฉพาะกิจพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ได้ดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 1,690 คดี ผู้ต้องหา 331 คน ยึดพื้นที่คืน 87,078 ไร่ คดีไม้ 1,666 คดี ผู้ต้องหา 649 คน ยึดไม้ของกลาง 109,089 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม รวม 4,026 ลูกบาศก์เมตร ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 987 คดี ผู้ต้องหา 173 คน ยึดคืนพื้นที่ป่าได้ 16,086 ไร่ คดีไม้ 781 คดี ผู้ต้องหา 605 คน ยึดของกลางเป็นไม้ 12,365 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 1,027 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินคดีการบุกรุกป่าได้ 174 คดี ผู้ต้องหา 17 คน ยึดคืนพื้นที่ป่าได้ 5,222 ไร่ และคดีไม้ 4 คดี ผู้ต้องหา 1 คน ยึดไม้ 232 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม รวมปริมาตร 6 ลูกบาศก์เมตร

นายวราวุธ กล่าวว่า โดยการดำเนินงานของทส.ในปีงบประมาณ 2562 ดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 2,851 คดี ผู้ต้องหา 521 คน ยึดคืนพื้นที่ป่า 108,385 ไร่ และคดีไม้ 2,451 คดี ผู้ต้องหา 1,255 คน ยึดไม้ของกลาง 121,686 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม รวมปริมาตร 5,060 ลูกบาศก์เมตร ส่วนสถิติในปีงบประมาณ 2557 ดำเนินคดีบุกรุกป่า 6,003 คดี ผู้ต้องหา 1,556 คน ยึดพื้นที่ป่าได้ 109,303 ไร่ และคดีไม้ 11,527 คดี ผู้ต้องหา 5,884 คน ยึดไม้ของกลาง 593,097 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม รวมปริมาตร 28,999 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากเทียบในปัจจุบันกับปี 2557 จะพบว่าคดีบุกรุกป่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

“สรุปผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาสามารถยึดคืนพื้นที่ป่าจากกลุ่มนายทุนที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าไม้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 – 2562 รวมคดีบุกรุก 29,350 คดี ได้พื้นที่คืนมาเนื้อที่ 853,603 ไร่ ซึ่งคดีการตัดไม้ผมอยากให้คนทำผิดต้องติดคุกเท่ากับอายุของต้นไม้ที่ตัดไปด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องอิงกับกฎหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่สามารถทวงคืนมาได้กระทรวงทรัพยากรฯ จะได้เร่งนำพื้นที่ดังกล่าวมาฟื้นฟูสภาพให้กลับไปเป็นป่าสมบูรณ์ต่อไป” นายวราวุธ กล่าว

รัฐมนตรี ทส. กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเนื้อที่ป่าจากการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศของคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 3 แสนไร่ ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561) ขณะที่การดำเนินงานตามนโยบายของคทช. ที่จัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินเลี้ยงชีพแก่ราษฎรผู้ยากไร้ หรือไร้ที่ดินทำกินในรูปแบบแปลงรวม ซึ่งได้จัดสรรให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดแล้ว รวม 184 พื้นที่ 58 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 659,428-1-46.06 ไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มี 234 พื้นที่ 61 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 1,083,366-3-38.66 ไร่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิด ยังมีข้อจำกัดอยู่มากเนื่องจากกลุ่มผู้กระทำความผิดไม่ได้มีแค่ กลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพล เท่านั้น ยังมีชาวบ้านด้วย ซึ่งการดำเนินการจับกุมชาวบ้านนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในพื้นที่ เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ก็ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าไม้ของกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าไม้โดยจะต้องมีคุณสมบัติที่จะสามารถทำกินและอยู่อาศัยในเขตป่าไม้ได้ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มพีมูฟ กลุ่มสมัชชาคนจน และกลุ่มผู้เดือดร้อนอื่นๆ โดยได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ของทส.ขึ้นมา เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ และที่ผ่านมาทส. ได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจากผลการดำเนินงานก็เป็นที่พอใจของกลุ่มประชาชนผู้เดือดร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image