ไม่ใช้ซ้ำ! กรมควบคุมโรค ขอ ‘นักดื่ม’ อย่าห่วงเป่าวัดแอลกอฮอล์ในเลือดเปลี่ยนหลอดใหม่ทุกครั้ง

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนักดื่มไม่ยินยอมเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ตรวจ อ้างกลัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่าการใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ แบบตรวจคัดกรอง และแบบตรวจยืนยันผล

นพ.อัษฎางค์กล่าวว่า สำหรับแบบตรวจคัดกรอง (screening) เป็นเครื่องที่ใช้ในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวางปากให้ห่างจากปลายกระบอกประมาณ 5-8 เซนติเมตร เพียงแค่มีการพูดคุยกัน แอลกอฮอล์ในลมหายใจก็ลอยเข้าปลายกระบอก ประมาณ 3-5 วินาที เครื่องก็สามารถตรวจได้แล้ว เครื่องนี้ตรวจได้รวดเร็ว ไม่ต้องลงจากรถ ผลที่แสดงจะบอกได้ว่ามีหรือไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่แสดงเป็นตัวเลข ส่วนแบบที่สองคือ แบบตรวจยืนยันผล (Evidential) เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยเป่าลมหายใจเข้าเครื่องตรวจ ผู้ถูกตรวจจะต้องอมหลอดเป่าเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเปลี่ยนหลอดใหม่ก่อนเป่าทุกครั้ง ผลที่แสดงจะเป็นตัวเลขบอกถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด มีหน่วยเป็น mg/100 ml เช่น 50 mg% แสดงว่าในเลือด 100 มิลลิลิตร มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 50 มิลลิกรัม จะใช้ตรวจยืนยันผลจากกรณีที่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีแอลกอฮอล์

นพ.อัษฎางค์กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำการใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจควรปฏิบัติ 1.สวมหน้ากากอนามัย 2.สวมถุงมือและล้างมือบ่อยๆ 3.ให้ผู้ถูกตรวจฉีกซองของหลอดเป่าเอง เพื่อให้ผู้ถูกตรวจมั่นใจว่าเป็นหลอดใหม่ ไม่ได้ใช้ซ้ำ 4.ให้ทำความสะอาดภายนอกตัวเครื่องตรวจด้วยแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนและหลังใช้ทุกราย และ 5.ทิ้งหลอดเป่าที่ใช้แล้วในภาชนะที่ปิดมิดชิด และ 2.ผู้ถูกตรวจควรปฏิบัติ 1.ขอฉีกซองบรรจุหลอดเป่าเองเพื่อความสบายใจ และ 2.ให้เป่าลมหายใจออกยาวๆ นับ 1-5 ไม่สูดหายใจเข้าระหว่างเป่า

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

Advertisement

 

“ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร ช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ 2563 ของกรมควบคุมโรค พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นการดื่มแล้วขับ คิดเป็นร้อยละ 32.68 ลดลงเมื่อเทียบกับปีใหม่ 2562 (ร้อยละ 40.39) และจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากดื่มแล้วขับลดลงร้อยละ 19.09 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ทั้งการตั้งด่านตรวจสกัดผู้ดื่มแล้วขับ และมาตรการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่เป่าไม่ได้จะถูกส่งไปเจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งตรวจฟรี โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนสนับสนุนค่าตรวจตลอดปี 2563 ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มแล้วขับ และขอให้ประชาชนมั่นใจในการใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.อัษฎางค์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image