สธ.ถกยาว 5 ชม. สรุป 6 มาตรการเข้มชงนายกฯ สู้ ‘โควิด-19’ รพ.เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหาร สธ. พร้อมเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อจัดทำเป็นข้อกำหนดเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 16 มีนาคมนี้ ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง และในช่วงท้ายของการประชุม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย

ภายหลังการประชุม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ.ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมดังกล่าวมีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาช่วยกันออกมาตรการที่ได้คำนวณทั้งทางระบาดวิทยา ทางคลินิกวิทยา รวมถึงผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เนื่องจากจะต้องดูว่าเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สธ.จึงเตรียมสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประชาชน สำหรับข้อกำหนดเป็นมาตรการมีประมาณ 6 ข้อ อาทิ 1.ระบบการติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิด 2.ระบบการตรวจจับผู้ป่วยให้เร็วขึ้น เช่น กรณีที่มีผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน จำนวนมากที่เกิดขึ้น จะต้องมีการตรวจจับให้เร็วขึ้น 3.เวชภัณฑ์ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 4.ความพร้อมของระบบโรงพยาบาล เตียงรองรับผู้ป่วย

“ทั้งนี้ กรอบของของนโยบายคือ เชิงส่งเสริม เชิงป้องกัน เช่น ลด/ชะลอจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศ เชิงป้องกันพฤติกรรมด้านสุขภาพ เชิงรักษาคือ ยาต้องพอ หมอต้องมี เครื่องมือต้องพร้อม ตอนนี้เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องระยะของการแพร่ระบาด เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเฝ้าระวังและตรวจจับผู้ป่วยให้เร็ว รวมไปถึงมาตรการทางสังคมและกฎหมายที่จะต้องเข้ามาร่วม ซึ่งหมายถึงความรักประเทศไทย ความห่วงใยสังคมที่เราจะต้องร่วมมือช่วยกัน เพราะเราไม่สามารถบังคับคนหมู่มากได้ คนส่วนใหญ่เป็นคนดี พร้อมที่จะร่วมมืออยู่แล้ว แต่จะมีคนส่วนน้อยที่จะต้องใช้กฎหมาย เช่น ประเพณีที่จะต้องมีการรวมคนหมู่มาก ก็จะต้องยอมส่วนนี้เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ เพราะมันจะต้องติดกันในระยะใกล้ มาตรการทางกฎหมายที่จะต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมไปถึงการรวมศูนย์บัญชาการสั่งการที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ในการรวมเอากระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ขณะนี้จะต้องเปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้องให้ได้ โดยส่วนมากผู้ที่มีอาการหนักคิดเพียงร้อยละ 4.7 ที่เหลือเป็นเพียงอาการของไข้หวัด แต่ไม่ได้พูดเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคใหม่ หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เมื่อ 10 ปีก่อน ช่วงแรกของการแพร่ระบาด ทุกคนก็เกิดความวิตกกังวล แต่พอปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

Advertisement

 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ในส่วนของกรณีมาตรการทางสังคมที่จะต้องใช้กฎหมายเข้ามาช่วย เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เนื่องจากทุกอย่างมีหลักตามวิชาการว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นแล้วจะต้องมีเกณฑ์การปฎิบัติอย่างไรต่อ เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอน ที่ได้ให้ยกเลิกทั้งหมดเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นกิจกรรมที่นำคนมารวมกันเป็นพันคน แต่ในอนาคตข้างหน้าสถานการณ์ก็ต่างกันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่จะเสนอนี้จะวางแผนเพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยด้วยหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เป็นข้อแนะนำว่าข้าราชการทุกกระทรวงจะต้องทำงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์  เพราะจะต้องปกป้องพี่น้องประชาชนคนไทย  เพราะจะทำแค่ของ สธ.คงไม่ได้

“เราจะเสนอชุดมาตรการที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการ จะลดการแพร่จำนวน และเรายังอยู่ในระยะการระบาดที่ 2 แต่ไม่อยากให้สนใจว่าอยู่ในระยะไหน สิ่งที่สำคัญคือจะต้องทำยังไงก็ได้ให้จำนวนผู้ป่วยไม่มากไปกว่าสิ่งที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เช่น มีการเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ราย ก็คงรับไม่ได้ เราจึงต้องทำให้รองรับให้ได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image