ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯถก “หม่อมเต่า” ขอพักส่งเงินสมทบ 6 เดือน หลังโควิด-19 กระทบหนัก

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 18 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) นำคณะเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

ม.ร.ว.จัตุมงคล เปิดเผยว่า วันนี้สภาองค์การนายจ้างฯ ขอหารือถึงระเบียบข้อบังคับการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยจะขอพักการส่งเงินสมทบชั่วคราวในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการประกันสังคม จะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการไตรภาคี

“โดยส่วนตัวมองว่า เงินไม่ได้สำคัญเท่ากำลังใจ ถ้าได้ไป ใจมา ถ้าใจมา จะอยู่ได้นาน ไม่เจ๊งเร็ว แต่ถ้าใจเสียจะลำบาก” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวและว่า ภายใน 2-3 วันนี้ จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงการช่วยเหลือกลุ่มสถานประกอบการและผู้ใช้แรงงานด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศสั่งหยุดกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างอย่างไร กรณีถูกสั่งหยุดงาน 14 วัน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า หากเป็นลูกจ้างผู้ประกันตน ประกันสังคมจะจ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้างครั้งสุดท้าย เป็นจำนวน 3 เดือน

ด้าน นางเนาวรัตน์ กล่าวว่า ได้ขอพักการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพราะมองว่าธุรกิจขณะนี้ประสบปัญหาค่อนข้างหนัก ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ (raw material) ที่ไม่สามารถส่งเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากจีนหยุดการผลิตมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งขณะนี้วัตถุดิบไม่สามารถนำเข้ามาได้ทันความต้องการ อีกทั้ง ฝ่ายผู้ซื้อ ขณะนี้มีการปิดพอร์ตที่สหรัฐอเมริกา จึงกระทบกับการส่งสินค้า รวมถึงในต่างประเทศมีการปิดสถานประกอบการ การปิดสถานที่ต่างๆ คล้ายกับประเทศไทย หรืออาจจะหนักกว่า แต่มีมาตรการที่เข้มแข็งกว่า จึงส่งผลให้ลูกค้าปฏิเสธการรับของ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกด้วย

Advertisement

“ขณะนี้โรคโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเสื้อผ้า อาหาร รถยนต์ และอื่นๆ และกระทบทั้งในและนอกประเทศ ที่ว่าเศรษฐกิจแทบจะเดินต่อไม่ได้ วัตถุดิบส่งออกไม่ได้ นำเข้าไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไม่มีการผลิตของ เนื่องจากมีเชื้อระบาด อีกทั้งช่วงตรุษจีนคนกลับบ้านและกลับมาไม่ได้ เนื่องจากมีการจำกัดพื้นที่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสระบาด ภาพที่เห็น ชัดเจนว่ากระทบธุรกิจ การจ้างงานมีปัญหา ซึ่งจะเริ่มเห็นในเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากมีการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ประกาศปิดอย่างชัดเจน” นางเนาวรัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ผลิตไม่ได้เกิดจากการเลิกจ้าง พักงาน หรือขณะนี้แรงงานอยู่ไหน สถานะใด นางเนาวรัตน์ กล่าวว่า พยายามอุ้มไว้ เพียงแต่อาจจะทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ มีการให้ลาพักร้อน หรือจากปกติทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เหลือ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เผชิญ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 300-400 โรงงาน ในเครือข่ายสภาองค์การนายจ้างฯ เฉพาะคนงานที่อยู่ในโรงงานสมาชิกกว่าหลายล้านคน 1 โรงงาน จะมีพนักงานประมาณ 2-3 หมื่นคน ซึ่งโรงงานบางโรงงานเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 จบได้เร็วเท่าไร ก็จะช่วยให้ฟื้นได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพราะไทยส่งออกมากถึงร้อยละ 70 ขอความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะโรงงาน ไม่ให้เคลื่อนย้ายแรงงาน ขอร้องว่าอย่ากลับบ้าน ให้อยู่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยหยุดชดเชยหลังจากควบคุมโรคได้แล้ว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image