‘วราวุธ’ พร้อมผู้ว่าฯภาคเหนือหารือแก้ไขปัญหาหมอกควัน ทำหนังสือขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน

‘วราวุธ’ พร้อมผู้ว่าฯ 17 จังหวัดหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะ 4 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา เน้นขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ทำหนังสือขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำไม่ก้าวก่ายเรื่องภายนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการเร่งด่วนให้มีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ เพื่อหารือการยกระดับการดำเนินมาตรการรับมือสถานการณ์อย่างเร่งด่วน รวมไปถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์นับจากนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. พร้อมด้วยตัวแทน 17 จังหวัดภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

นายวราวุธกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ได้รับทราบถึงสถานการณ์ และการดำเนินงานในพื้นที่ โดยกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดภาคเหนือรายงานต่อที่ประชุมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ได้มีการระดมสรรพกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ เข้าดับไฟทันทีที่ได้รับรายงานแจ้งเหตุ ประกาศวันห้ามเผา ตั้งศูนย์บัญชาการ 24 ชั่วโมง การใช้อากาศยานในการดับไฟและปล่อยละอองน้ำ การเจรจากับหน่วยทหารเมืองคู่ขนานชายแดนไทย-เมียนมา-ลาว รวมไปถึงการจัดตั้งบลูสกายโซน เซฟตี้โซน และการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพประชาชน

นายวราวุธกล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ จิตอาสา และหน่วยทหาร ที่ร่วมกันดำเนินงานอย่างเต็มที่ สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน นายกรัฐมนตรีได้มีสารไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอความร่วมมือควบคุมการเผา และ ทส.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขงอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ร่วมกัน

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานจากพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันเช่น จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา และจ.เชียงราย ผ่านผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

Advertisement

นายคมสัน สุวรรณอำพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ได้ดำเนินการตามแผนที่ อ.พร้าว เป็นจุดแรกในช่วงบ่ายวันนี้ เนื่องจาก อ.พร้าว เกิดจุดความร้อนขึ้นโดยเฉพาะใน อ.แม่ปั๋ง 15 จุด ซึ่งจุดต่อไปที่จะดำเนินการตามแผนคือที่ อ.เชียงดาว ซึ่งจากมาตรการที่ได้ดำเนินการซิงเกิลคอมมานด์ (Single Command) ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่นนั้น ได้มีการปรับแผนในขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินงาน โดยใช้กลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และแบ่งชุดปฎิบัติงานเพื่อกระจายกำลังไปตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1.ชุดปฏิบัติการลาดตระเวน 2.ชุดปฏิบัติการระงับเหตุไฟป่า ซึ่งหากชุดลาดตระเวนพบจุดหมายที่เกิดไฟป่าขึ้น จะรีบแจ้งชุดที่ 2 เพื่อเข้าปฏิบัติการดับไฟป่าทันที ทั้งนี้ หากหมู่บ้านไหนไม่มีจุดเสี่ยงก็จะให้แบ่งกำลังไปช่วยในหมู่บ้านที่มีพื้นที่เสี่ยงและมีรอยต่อติดกับเขตป่าสงวน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบเผาป่าอยู่เป็นประจำ การแบ่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และผู้ประกอบอาชีพหาของป่าเนื่องจากเป็นผู้ที่มีความชำนาญในพื้นที่นั้นๆ หลังจากชุดปฏิบัติลงพื้นที่แล้ว ผลปรากฏว่าจุดความร้อนลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด

นายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ที่แม่ฮ่องสอน มีจุดสะสมความร้อนตั้งแต่มกราคม-มีนาคม ในปัจจุบันมีจุดความร้อนสะสม 9,700 จุด ในระบบของเวียร์ ซึ่งในแต่ระวันมีจุดความร้อนที่สูงมาก หลังจากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยใช้ซิงเกิลคอมมานด์ ของอำเภอ และจังหวัด ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ควบคุมบัญชาการเอง จึงทำให้จุดความร้อนที่มีก่อนหน้านี้ ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สะสมเกินมาตรฐานในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาซึ่งทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะดำเนินการตามมาตรการเพื่อให้ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดลงตามระดับมาตรฐาน ผวจ.แม่ฮ่องสอนมีมาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาด พร้อมให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการเผาดังกล่าว ทั้งนี้ มีการประกาศให้เผาเชื้อเพลิงทางการเกษตรโดยการสลับกันแต่ละพื้นที่ช่วงวันที่ 1-10 เม.ย.63 เพื่อเป็นการผ่อนปรนให้กับพี่น้องเกษตรกร

นายชุติเดช มีจันทร์ รอง ผวจ.พะเยา กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 66 มคก./ลบ.ม. ถือว่าเกินมาตรฐานไม่มาก ในพื้นที่ จ.พะเยา พบจุดความร้อน 1 จุด อยู่บริเวณทิศใต้ของจังหวัด ในส่วนที่ลมได้พัดมาจากทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่จุดความร้อนที่พบบ่อยจะอยู่ในส่วนของทิศเหนือเป็นหลักซึ่งอยู่ติดกับเขตชายแดน และมีการร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงออกลาดตระเวนไม่ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปจุดไฟเผาป่า หรือล่าสัตว์ โดยที่ผ่านมาการเกิดไฟป่าในพื้นที่ เกิดจากการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ เป็นต้น

ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รอง ผวจ.เชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงรายมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการในระดับจังหวัดไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 11 มี.ค.63 และครั้งที่ 2 วันที่ 16 มี.ค.63 ที่ผ่านมา เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาของค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และออกมาตรการประกาศแจ้งเตือนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2 ฉบับ จัดทำประกาศขอความร่วมมือของประชาชนในการเข้า-ออกพื้นที่ป่า ตั้งแต่วันที่ 10-21 เม.ย.63 จัดตั้งชุดลาดตระเวนประจำตำบล จำนวน 43 ชุด ประกอบด้วย ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปลัดอำเภอที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 12 นาย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 11-15 มี.ค. และ 20-24 มี.ค. เป็นการลาดตระเวนและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดจุดความร้อนขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ มีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดและถูกเปรียบเทียบปรับทั้งสิ้นกว่า 100 ราย เป็นจำนวนเงิน 18,400 บาท ทั้งนี้ ผวจ.เชียงรายได้หารือขอความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันกับนายมิน นาย ผวจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยภายหลังการรายงาน นายวราวุธได้กล่าวขอบคุณและขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญของการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หากประชาชนไม่ร่วมมือก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผา ที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ กระทบสิ่งแวดล้อม และยังทำลายป่าต้นน้ำอีกด้วย สำหรับมาตรการรับมือสถานการณ์ในห้วงเวลานับจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดเข้มข้น เข้มงวด และกวดขันในการควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ และให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาอย่างเด็ดขาดตลอดช่วงห้ามเผาที่จังหวัดกำหนด หากพ้นช่วงห้ามเผา ขอให้จัดระเบียบการเผาเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับมือของการเพิ่มขึ้นจากเดิม 9 จังหวัดเป็น 17 จังหวัดในภาคเหนือนั้น ทางกระทรวงทรัพยากรฯ มีแนวทางการรับมืออย่างไร นายวราวุธกล่าวว่า พื้นที่น่าเป็นห่วงมี 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา ซึ่งตนได้กำชับทางผู้ว่าราชการจังหวัดและขอความร่วมมือไปยังกองทัพภาคที่ 3 เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้ปฏิบัติทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดนไทยเราได้รับผลกระทบมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่เนื่องจากเป็นการเกิดขึ้นภายในประเทศเพื่อนบ้าน ตนไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปก้าวก่ายเรื่องภายในประเทศนั้นๆ ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image