กรุงเทพฯไม่ต่าง “ญี่ปุ่น” ยอดติดเชื้อพุ่ง!! สธ.วอน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวภายหลังแถลงสถานการณ์ประจำวันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขอให้ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือยังไม่มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เฝ้าระวังสังเกตตนเองอยู่ที่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาเชื้อสำหรับผู้ที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน เนื่องจากขณะนี้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) กว่า 1 หมื่นราย แต่พบผู้ป่วยที่ผลเป็นบวกเพียงร้อยละ 4 และสำหรับผู้ที่ทำการตรวจแล้วมีผลเป็นลบ ก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.ด้วยการเพิ่มระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการแพร่และรับเชื้อ

“โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยยืนยันพบมากในกรุงเทพมหานคร เป็นวัยหนุ่มสาว และวัยทำงานโดยมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงทำให้ผู้ป่วยยังมีกิจกรรมร่วมกันในสังคมจึงเกิดเป็นผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งขณะนี้มีประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) สั่งปิดสถานบริการต่างๆ แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่ที่บ้านอย่าเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเด็ดขาด เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการนี้มาเพื่อหยุดการเคลื่อนย้าย เช่น กรณีวันหยุดสงกรานต์ ขณะนี้ดีที่สุดก็คือ เมื่อหยุดงานแล้วควรจะพักอยู่ที่บ้านอยากกลับไปภูมิลำเนาเด็ดขาด เนื่องจากมีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดประสงค์หลักของ สธ.คือต้องการให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน และไม่เดินทาง หากประชาชนไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม คือ แต่ละคนจะต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยใช้คำรณรงค์ว่า “อยู่ห่างไว้ ไม่แพร่เชื้อ เพื่อทุกคน” แต่หากไม่มีการจำกัดการเดินทางมาตรการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผล จึงมีมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เนื่องจากสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ไม่แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ สธ.มีคำแนะนำว่าห้ามเดินทางไป ดังนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม.ขณะนี้ จึงต้องจำกัดการเดินทาง

Advertisement

“ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ควรเดินทางออกต่างจังหวัดและผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ควรเข้ามากรุงเทพฯ หากไม่มีติดธุระจำเป็น เหตุผลที่ต้องจำกัดการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คือ 1.สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการป่วย แต่ในระหว่างการเดินทางนั้นอาจจะพบเจอกับผู้ที่ป่วยและอาจจะได้รับเชื้อไวรัสมา 2.ผู้ที่ป่วยแล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา ก็อาจเป็นการนำเชื้อไวรัสกลับไปแพร่สู่บุคคลที่ท่านรักในครอบครัว และ 3.หากมีอาการป่วยหนักที่ต่างจังหวัด โรงพยาบาล (รพ.) ในต่างจังหวัดไม่สามารถรองรับกรณีนี้ได้ เช่น ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออยู่ห้องไอซียู เพราะ รพ.ที่มีความพร้อมมากที่สุดอยู่ในกรุงเทพฯ” นพ.ชิโนรส กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า เดิมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน กรุงเทพฯ และขณะนี้มีผู้ป่วยมากขึ้นในต่างจังหวัด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการให้ หยุดทำงาน 3 สัปดาห์ เพื่อให้หยุดอยู่บ้านและไม่แปลกแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น รวมไปถึงผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยภายใน 14 วันจะได้ดูแลตนเองให้หายป่วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ปลอดเชื้อ แต่หากมีผู้ที่ไม่กระทำตามก็จะเป็นการแพร่เชื้อ

“อยากจะสื่อสารกับญาติพี่น้อง ผู้สูงอายุ ที่อยู่ในต่างจังหวัดว่า หากช่วงนี้ไม่ได้มีการทำงานในกรุงเทพฯ แต่การที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา ก็เป็นการดูแลอีกแบบหนึ่ง หากรักพ่อแม่ตายายที่บ้านก็อย่าเพิ่งกลับบ้าน เพราะจะเกิดการป่วยในต่างจังหวัด และหากเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่คุ้ม ค่ารักษาพยาบาลในการดูแลก็อาจจะมากกว่าค่าใช้จ่ายการอยู่ในกรุงเทพฯ” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของศิลปิน น.ส.แพรวา ณิชาภัทร มีการสอบสวนโรคอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลในขณะนี้ไม่สามารถระบุข้อมูลระดับบุคคลได้ว่าติดจากใครเนื่องจากมีการป่วยต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้นอาจจะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้หรือสถานที่ที่พบผู้ป่วย ดังนั้น การมุ่งหาต้นเหตุของการป่วยอาจจะมีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากสิ่งที่สำคัญกว่าคือ จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ที่กำลังป่วยหรือเริ่มป่วยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image