รพ.ยืดเวลานัด “คนไข้” โรคเรื้อรัง-ผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน ทุ่มรับมือโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการเฝ้าสังเกตอาการการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ด้วยตนเองก่อนไปพบแพทย์ ว่า อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเริ่มจากระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โดยอาการไข้ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น จมูกและลำคอ มีอาการไอ ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวควรจะไปพบแพทย์ทันที แต่หากมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเล็กน้อย ควรจะดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี ได้ขอรับบริจาคเครื่องช่วยหายใจ ในสถานการณ์เช่นนี้ สธ.มีความพร้อมในอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด นพ.มานัส กล่าวว่า ในส่วนของการบริจาคนั้น เป็นการสนับสนุนจากภาคประชาชน และเป็นการให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่ สธ.ได้เตรียมความพร้อมมาล่วงหน้าแล้ว จากการติดตามสถานการณ์จากกรมควบคุมโรค อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เตียง อุปกรณ์รักษา เพียงพอสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้มีการวางแผนล่วงหน้าสำหรับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเตรียมโรงพยาบาลสนาม โดยเน้นรักษาผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการปานกลาง รวมถึงผู้ป่วยที่อาการไม่มาก แต่จะต้องกักกันเพื่อเฝ้าสังเกตอาการเพิ่มเติม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

 

“สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรที่จะเข้าโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัด และขณะนี้มีหลายที่ที่พยายามลดการเยี่ยมคนไข้ โดยใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างอื่นแทน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขณะนี้มีนโยบายยืดระยะเวลาการนัดให้นานมากขึ้น รวมถึงการผ่าตัดที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็อาจจะถูกเลื่อนออกไป ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญสำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจก่อน” นพ.มานัส กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image