ดีกว่าไม่มีใช้! สจล. ผลิตเครื่องช่วยหายใจราคา 5 พัน! ยันแค่ค่าอุปกรณ์ ไม่ใช่ค่ามันสมอง

ดีกว่าไม่มีใช้! สจล. เข้าใจความห่วงใยของหมอ ผลิตเครื่องช่วยหายใจราคา 5 พัน! ยันแค่ค่าอุปกรณ์ ไม่ใช่ค่ามันสมอง ช่อง 3 มอบ 5 แสนหนุนผลิต ผู้ไม่ประสงค์ออกนามร่วมด้วยอีก 1 ล้าน

รายการโหนกระแสวันที่ 8 เม.ย. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เสนอเรื่องราวดีๆ กรณีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ผลิตเครื่องช่วยหายใจออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในราคา 5 พันบาท สุดท้ายแล้วเครื่องนี้จะช่วยได้จริงหรือไม่ เปิดใจสัมภาษณ์ “ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสจล. “ศ.นพ. อนันต์ ศรีเกียรติขจร” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล. และ “นพ.อนวัช เสริมสวรรค์” รองคณบดีแพทยศาสตร์ สจล.

 

5 พันจริงเหรอ?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “จริงครับ ต้องเรียนว่าที่มันราคาไม่สูงเพราะมีความจำเป็น วันนี้อะไรที่ผลิตง่ายใช้ในยามฉุกเฉิน เจ้าเครื่องนี้เรียกว่า mini emergency ventilator ใช้ยามฉุกเฉิน แน่นอนเครื่องที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เครื่องราคาเป็นล้าน แต่ตอนนี้มีเป็นล้านก็ใช่ว่าจะซื้อได้ ผู้ผลิตอย่างอเมริกาก็แย่งกันซื้อ ที่มีในประเทศไทย ก็มีคนใช้อยู่แล้วด้วยโรคอื่น ไม่ว่าจะโรคมะเร็ง โรคหัวใจต่างๆ ถ้าถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็มีอุปกรณ์ที่เห็นอยู่นี้ ต้องบีบช่วยชีวิตไป ทีนี้จะบีบต่อเนื่องตลอด จะบีบกันยังไง เพราะคนไข้แต่ละคน อัตราการหายใจแตกต่างกัน ไปบีบตอนเขาหายใจออกก็เสร็จ มันต้องมีตัวแปรหลายตัวในการบีบ แน่นอนผู้เชี่ยวชาญพอมั้ยละครับ หมอพยาบาล มันเลยถือกำเนิดเครื่องนี้ ด้วยการเรียกร้องของหมอพยาบาลมาตั้งแต่ต้น”

Advertisement

จังหวะการบีบสำคัญ การใช้มือบีบๆ ต้องเป็นไปตามจังหวะการหายใจ?
นพ.อนันต์ : “ครับ ต้องเป็น 2 ประเด็น กรณีคนไข้หายใจอยู่ได้ เขาก็จะบีบให้มันเป็นไปตามจังหวะคนไข้หายใจเข้า ถ้าในช่วงหายใจออกอากาศจะอัดเข้าไป ตัวนี้จะมีเซ็นเซอร์ช่วยจับ คนไข้ที่เป็นโรคปอดแรงหายใจเข้าจะลำบาก เขาก็จะเอาลมเข้าไปช่่วยคนไข้ เพราะเขามีระบบเซ็นเซอร์”

เครื่องนี้ฉลาดมากกว่าคนเหรอ รู้จังหวะคนหายใจเข้าออก?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “เครื่องนี้ทำงานด้วยหลักการทางเครื่องกล และอิเล็กโทรนิกคอมพิวเตอร์ มอเตอร์จะเป็นตัวบังคับการบีบอัด อย่างที่อาจารย์ได้เรียนว่าตัวแปรแรกคืออัตราการหายใจ สองคือปริมาตรของลมที่เข้าไป สามคืออัตราการหายใจเข้าและออก มันจะมีตัวเซ็นเซอร์ ซึ่งตัวสำคัญที่สุดคือตัวนี้ 5 พันบาทไม่ได้คิดค่ามันสมองหรอกครับ ถ้าฝรั่งคนทำ ตรงนี้เขาคิดเป็นแสนเป็นล้านก็ได้ เพราะเป็นค่ามันสมองของเขา อันนี้ 5 พันแค่ค่าอุปกรณ์”

Advertisement

เครื่องนี้ที่เด็ดกว่านั้นคือมันตั้งจังหวะได้?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “จริงๆ ตรงนี้มีตัวเซ็นเซอร์ อัตราการหายใจจะรู้เลยว่าหายใจเข้าเท่าไหร่ และออกเท่าไหร่ รวมทั้งร่างกายของคน ตัวเล็กและใหญ่ ปริมาตของลมเท่าไหร่ จะมีเครื่องเซ็นเซอร์ และเครื่องนี้จะกลับเข้ามาแผงวงจรอัจฉริยะ เพื่อไปควบคุมให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน ตรงนี้เป็นฝีมือวิศวกรชีวการแพทย์คนไทย ซึ่งมันไม่มีมูลค่าเพราะเขาทำให้”

ผลิตขึ้นมาเองเลย?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “อุปกรณ์แบบนี้มีการคิดมานานมากแล้วครับ อุปกรณ์พวกนี้ก็หาซื้อได้ตามท้องตลาด มอเตอร์ก็มีอยู่แล้ว ความชาญฉลาด อ.ชูชาติ เขาใช้มอเตอร์ที่เป็นลูกเบี้ยว หมุนทางเดียวเลย อุปกรณ์เซ็นเซอร์พวกนี้ เปลี่ยนจากไฟฟ้ามาเป็นพลังงานกล ทำได้มานานแล้ว”

5 พันไม่ถูกไปเหรอ?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “เวลามีอะไรถูกไปคนก็ไม่เชื่อมั่น อย่างที่บอกว่าไม่ได้คิดค่ามันสมอง อุปกรณ์ทางการแพทย์ค่าสมองแพงมากนะ แต่วันนี้เทคโนโลยีที่ทำโดยวิศกรชีวการแพทย์เครื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้จริง เรียนย้ำนะครับไม่มีใครต้องการใช้หรอกครับ แต่วันฉุกเฉินของมันจำเป็น บางครั้งสิ่งนี้ก็พอเอามาทดแทนเยียวยาได้ ต่างจังหวัดเขาไม่ได้มีอุปกรณ์ดีเหมือนกรุงเทพฯ นะ คนเขียนขอเรามาคือหมอต่างจังหวัดเยอะ อย่างภูเก็ต หลายๆ ที่ที่ปะทุขึ้นมา วันที่อยากจะได้เงินก็ซื้อไม่ได้นะ ถ้าไม่มีคนคิดสนับสนุนกัน”

เครื่องช่วยหายใจสร้างมาเพื่อสู้ศึกโควิด มันมีดรามา มีหมอบางท่านบอกว่ามันใช้ไม่ได้?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ต้องกราบเรียนผมเชื่อว่าคุณหมอเป็นห่วงคนไข้เลยตั้งคำถาม อีกเรื่องคือที่ผ่านมาไม่เคยมีคนไทยคิดแบบนี้มา เพราะเครื่องมือแพทย์ตามจินตนาการเรา เราไปซื้อจากต่างประเทศ พอมีเข้ามาในภาวะวิกฤตฉุกเฉินก็มีคนเป็นห่วง ซึ่งหลายคำถามที่ท่านถามมา เราได้ตอบไปแล้วว่าตัวนี้มีเซ็นเซอร์ มีตัวแปร 3 ตัวที่สำคัญ คืออัตราการหายใจ ปริมาตรลมเข้าไป หรืออัตราส่วนการหายใจเข้าออก ตรงนี้ก็มีการอธิบายโดยผู้ผลิต ซึ่งเป็นวิศกรชีวการแพทย์ ซึ่งให้ความรู้มาทั้งชีวิต ทั้งด้านการแพทย์ และวิศกรรม และวันนี้ผู้ร่วมพัฒนาไปด้วยกันคือคณะแพทยศาสตร์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง ศาสตราจารย์นายแพทย์ คณบดี รองคณบดี ซึ่งสามารถช่วยอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ”

มันใช้ได้มั้ย?
ศ.นพ. อนันต์ : “ถ้าอยู่ในภาวะปกติ แน่นอน เราต้องเลือกใช้เครื่องช่วยที่เป็นมาตรฐาน แต่ในภาวะพิเศษบางอย่างเราอาจมีความจำเป็นต้องใช้ อย่างที่ทางเราได้ตั้งชื่อมา หมายถึงเราใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น หรือรพ.ต่างจังหวัดที่อาจไม่มีเครื่องช่วยหายใจมากเพียงพอ หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แทนที่จะมีเจ้าหน้าที่บีบตัวนี้ แน่นอนพอรู้ว่าเป็นโควิดทุกคนก็มีความเสี่ยง ถ้าเราใช้ระบบนี้จัดการได้ก็จะลดความเสี่ยง ใช้ได้หรือไม่ได้ต้องดูบริบท”

บางคนจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเหมือนไม่ทั่วท้อง นี่คือการเขา หายใจไม่เต็มปอด บางคนมีอาการมาก บางคนอาการน้อย ถ้าอาการน้อยอาจใช้ตัวนี้ได้ ถ้าคนหายใจเหมือนเฮือกหาอากาศ ช่วยได้มั้ย?
ศ.นพ. อนันต์ : “ถ้าคนไข้ที่มีอาการมาก ควรไปใช้เครื่องที่มีความจำเป็นสูง แต่ถ้ามีความจำเป็นน้อยกว่า ก็ใช้เครื่องที่รายละเอียดน้อยกว่าลงไป”

ดีกว่าไม่มีอะไรใช้เลย?
ศ.นพ.อนันต์ : “ใช่ครับ ดีกว่าเยอะ”

คิดค่ามูลค่ามันสมองไปเท่าไหร่?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ไม่ได้คิด ถ้าคิดคงหลายแสน ตัวที่ทดสอบให้ทุกอย่างแม่นยำ ตัวละเป็นล้านนะ ที่อยู่ในแลปวิศวะลาดกระบัง ซึ่งก็ไม่ได้คิดค่าตัวนั้นที่ใช้ทดสอบ”

ผลิตได้กี่ตัว?
นพ. อนวัช : “ต่อวันทำได้ร้อยตัว รับประกันว่าเซ็นเซอร์เราแม่น ไม่เป็นอันตรายกับปอด มันไม่ใช่แค่ที่เห็น นี่เห็นแค่เครื่องต้นแบบเท่านั้น”

มีตัวอื่นอีกมั้ย?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “มีหลายทีม หลักการเหมือนกัน ระบบอีเลคโทรนิกคล้ายๆ กัน แต่บางทีมสามารถใช้ไอแพดควบคุม ไม่ต้องเสี่ยงชีวิต”

 

ตอนนี้เขานิยมหุ่นยนต์ปิ่นโต เราทำมั้ย?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ทำครับ เมื่อวานไปมอบให้รพ.สิรินธร สังกัดกทม. เป็นตัวที่นำเวชภัณฑ์เข้าไปอยู่ในห้องฉุกเฉินได้เลย เวลาคนดาหน้ามาหาหมอ หมอก็มีความเสี่ยง เพราะงั้นเรามีตู้ครอบหมอไว้เลย ตู้ความดัน หมอไปอยู่ในตู้ ยื่นมือออกมาได้เลย ดาหน้ากันมาหมอก็ปลอดภัย PPE ที่ขาดแคลนก็ไม่ต้องเปลือง เราทำทั้งตู้ความดันบวกและลบ”

เอาทุนที่ไหน?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ลาดกระบังบริจาคเริ่มต้น ตั้งศูนย์นวัตกรรมสู้โควิด 1 ล้าน และกราบขอบคุณผู้สนับสนุน พี่น้องประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ มูลนิธิ ก็ให้การสนับสนุน ทำให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมหลากหลายอย่าง เมื่อวานมอบให้รพ.สิรินธร พรุ่งนี้วชิร พระมงกุฏ รพ.ต่างจังหวัดจะทยอยมอบ”

จดลิขสิทธิ์มั้ย?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ไม่ครับ ใครอยากทำก็ได้ เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ”

มูลนิธิครอบครัวข่าวของช่อง 3 ได้เงินมาวันนี้ 23 ล้านกว่า ส่วนหนึ่งขอมอบให้อธิการบดี สจล. เพื่อสบทบทุนสร้างเครื่องช่วยหายใจ 5 แสน?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ขอบคุณมากครับ”

และมีผู้ไม่ประสงค์ออกนาม สมทบทุนให้สจล. ในการผลิตเครื่องช่วยหายใจ บริจาคให้อีก 1 ล้านบาท ผ่านทางรายการโหนกระแส?
ศ.ดร. สุชัชวีร์ : “ขอบคุณมากครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image