อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง “ตู้ความดันลบ” ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย “โควิด-19”

อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง “ตู้ความดันลบ” ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย “โควิด-19”

กทม.- เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่โรงพยาบาล (รพ.) เจริญกรุงประชารักษ์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริหารรพ.เจริญกรุงฯ รับมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 2 ตู้ จาก นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และนายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัยโควิด-19 วสท. เพื่อใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ในอนาคต

นางศิลปสวย กล่าวว่า สำหรับตู้ความดันลบที่ได้รับบริจาค เป็นตู้ความดันลบแบบที่ 1 ขนาดกว้าง 1.30 เมตร ยาว 2.60 เมตร สูง 2.20 เมตร สำหรับ 1 เตียงคนไข้ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร และเสาน้ำเกลือสูง 2.10 เมตร หรือคนไข้นั่ง 3-4 คน ตามระยะห่างความปลอดภัยต่อการแพร่เชื้อ โดย บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการผลิต และ วสท.เป็นผู้ออกแบบ

Advertisement

นางศิลปสวย กล่าวว่า ตู้ดังกล่าวได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรมในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสถานที่ มีน้ำหนักเบาและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย

Advertisement

“วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซี ข้องอ 90 องศา ข้อต่อสามทาง ข้อต่อท่อรูกันซึม เกลียวเร่ง (Turnbuckle) Clamp รัดสลิง เกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน โดยตู้ความดันลบนี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลัก คือความสะอาดและความดันห้อง ซึ่งจะมีการนำอากาศจากภายนอกห้องไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้องด้วยพัดลมดูดอากาศที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง (ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคารในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาสูงอย่างน้อย 3 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งจะต้องไม่ให้อากาศที่เจือจางนี้สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้ด้วย” ปลัดกทม. กล่าว

ทั้งนี้ ปลัด กทม. และคณะได้รับชมการสาธิตการไม่ลามไฟของแผ่นพลาสติกที่ใช้เป็นผนัง และหลังคา ตามมาตรฐาน UL 94 ที่กำหนดวิธีการทดสอบ และแบ่งระดับการไม่ลามไฟของพลาสติก ทดสอบโดยใช้แผ่นพลาสติกที่ตัดบางส่วนจากตู้ความดันลบที่ส่งมอบมาเป็นชิ้นทดสอบ และใช้เปลวไฟจากไฟแช็กเผาที่ปลายแผ่นพลาสติกในแนวตั้งเป็นเวลา 10 วินาที แล้วนำเปลวไฟออก ผลทดสอบผ่านการไม่ลามไฟ คือไฟสามารถดับได้เอง และไม่มีลูกไฟหยดลงพื้นด้านล่าง จากนั้นให้ใช้แผ่นพลาสติกเดิมเผาในแนวนอน โดยนำไฟแช็กเผา ผลคือไม่มีลูกไฟหยด แผ่นพลาสติกไม่เป็นรู ไม่เสียรูปร่างและมวลสาร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image