พม. เปิดตัว ‘หน้ากากผ้าคนหูหนวก’ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร (คลิป)

พม. เปิดตัว ‘หน้ากากผ้าคนหูหนวก’ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 21 เมษายน ที่โถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว “หน้ากากผ้าสำหรับคนพิการทางการได้ยิน” โดย นางพัชรี กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตัวเองได้ทุกวัน แต่สำหรับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินนั้น พอสวมหน้ากากผ้าก็จะมองไม่เห็นรูปปาก ทำให้การสื่อสารกับบุคคลใกล้ชิดที่ดูแลคนพิการกลุ่มนี้ ซึ่งอาศัยการดูรูปปากเข้าช่วยลำบากมากขึ้น จึงเป็นที่มาของหน้ากากผ้าสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นหน้ากากผ้าที่มีพลาสติกใสอยู่ตรงบริเวณปาก เพื่อช่วยให้การพูดสื่อสารมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยการมองเห็นรูปปากที่ชัดเจน และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้าน นางสาวอณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวว่า ผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 3.8 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด และจากผลการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้พิการทั้งหมด 2 ล้านคน พบว่า ปัญหาอันดับ 1 คือเรื่องของการสื่อสาร และอันดับที่ 2 คือการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการในสังคม ทั้งนี้ ผู้พิการทางการได้ยินหูตึง ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ จะสื่อสารด้วยการดูที่ปากเป็นหลัก ขณะที่ ผู้พิการทางการได้ยินหูหนวก (ไม่ได้ยินเลย) จะสื่อสารด้วยภาษามือเป็นหลัก และดูรูปปากประกอบ

Advertisement

 

 

 

Advertisement

 

 

ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงเริ่มทำหน้ากากผ้าสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ผลิตโดย ศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ (โรงงานปีคนพิการสากล) ซึ่งพอทดลองใช้แล้วก็ทำให้เห็นรูปปากเวลาสื่อสาร แต่ยังคงมีไอน้ำขึ้นบ้าง ในจุดนี้ต้องนำไปพัฒนาต่อไป โดยการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน จะนำไปจำหน่ายนำรายได้ช่วยเหลือผู้พิการ และหน้าหากส่วนหนึ่งจะนำไปมอบช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน ที่อยู่ภายในการคุ้มครองของพก. จำนวนกว่า 4,000 ราย ซึ่งมีครูสอนการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับผู้พิการทางการได้ยินรวมไปถึงทำเป็นคลิปสอนวิธีทำเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กด้วย เพื่อที่คนทั่วไปหรือผู้พิการสามารถตัดเย็บใช้เองได้ หรือเป็นจิตอาสาผลิตแล้วส่งเข้ามาบริจาคได้ที่ พก. ก็ได้เช่นกัน

นางสาวนิรมล ทรัพย์เจริญ อายุ 41 ปี ผู้พิการด้านการได้ยิน กล่าวว่า กับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ตนรู้สึกกลัวและเครียด จึงพยายามอยู่แต่ในบ้านและตอบสนองนโยบายการทำงานจากที่บ้าน พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตัวเองจากโควิด ติดตามข่าวสารจากการรายงานข่าวในโทรทัศน์ที่มีจอล่ามภาษามือ ทั้งนี้โควิดยังได้ส่งผลกระทบโดยในเรื่องของการสื่อสาร ขณะที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อ ซึ่งกับคนหูหนวกด้วยกัน ไม่มีปัญหาเพราะใช้ภาษามือในการสื่อสารอยู่แล้ว แต่กับการสื่อสารกับคนทั่วไป เขาจะอาศัยดูปากประกอบ เพราะฉะนั้นตนจึงรู้สึกขอบคุณและดีใจที่กระทรวงพม. สนับสนุนและให้บริการช่วยเหลือคนพิการด้วยการทำหน้ากากผ้าสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

“ก่อนหน้านี้ดิฉันใช้แมสก์แบบทั่วไป ทำให้มีอุปสรรคเรื่องการสื่อสารกับคนรอบข้าง เพราะมองไม่เห็นปากของกันและกัน หน้ากากปิดหมด ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนหน้ากากผ้าบ่อยขึ้นในแต่ละวัน พอมีหน้ากากผ้าสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งดิฉันได้ทดลองใช้งานเทียบกับหน้ากากผ้าแบบทั่วไป รู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น และมองเห็นรูปปากทำให้สื่อสารกับคนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น” นางสาวนิรมลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image