ติดอาวุธชุมชน ใช้ “กองทุนสุขภาพตำบล” สู้ภัยโควิด

ติดอาวุธชุมชน ใช้ “กองทุนสุขภาพตำบล”ž สู้ภัยโควิด

เพื่อที่จะกำราบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ให้อยู่หมัด จำเป็นต้องระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ งบประมาณจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นŽ หรือ กองทุนสุขภาพตำบลŽ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่

และเพื่อที่จะใช้งบประมาณได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เปิดเวทีไขข้อข้องใจ-สร้างความเข้าใจ ผ่านการเสวนาหัวข้อ ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นอย่างไร เพื่อช่วยต้านภัย โควิด-19Ž อย่างมีประสิทธิภาพ ทาง Facebook live เมื่อ วันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. บอกว่า หนึ่งในความโชคดีของประเทศไทยคือ การมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นอันดับ 6 ของโลก และที่โดดเด่นแตกต่างไปจากประเทศอื่นคือ ระบบสุขภาพชุมชนŽ ที่ช่วยหนุนเสริมระบบสุขภาพหลักให้เข้มแข็งและสมบูรณ์

สำหรับระบบสุขภาพชุมชนนั้น ถูกวางรากฐานเอาไว้ในการพัฒนาด้วยหลัก 3 ก. ประกอบด้วย ก. 1 คือ กองทุนŽ ให้มีงบประมาณในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ก. 2 คือ กรรมการŽ เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ก. 3 คือ การบริหารจัดการŽ เพื่อให้การใช้งบประมาณนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด โดยหลักการทั้งหมดรวมอยู่ใน กองทุนสุขภาพตำบลŽ แทบทั้งสิ้น

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย อธิบายว่า แต่ละปีกองทุนสุขภาพตำบลจะมีเงินหมุนเวียนประมาณ 3,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ สปสช.และท้องถิ่นร่วมกันสมทบ ที่ผ่านมา เงินเหล่านี้ถูกใช้ไปในกิจกรรมพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต 4 มิติ ประกอบด้วย การพัฒนาการเด็ก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผู้สูงอายุ และประเด็นตามบริบทของพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด สามารถนำเงินกองทุนตำบลมาใช้ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ ซึ่งนอกเหนือจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าแล้ว สิ่งสำคัญคือ การวางแผนระยะยาวหลังจากทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย

นายประจักษ์ บุญยัง

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับทราบถึงความกังวลของหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งบประมาณในช่วงโควิด-19 มาโดยตลอด เช่น ไม่สามารถซื้อสินค้าได้ตามราคามาตรฐานเพราะกำลังขาดตลาด จึงขอยืนยันว่า สตง. และทุกหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคระบาด ฉะนั้น หากมีเจตนาบริสุทธิ์ก็ให้ดำเนินการไปเลย เพราะ สตง.จะดูเฉพาะกรณีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าทุจริตเท่านั้น

“การดำเนินงานในภาวะเร่งด่วนที่อาจมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องไปบ้าง หากมีเจตนาบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องมีความกังวลใดๆ โดย สตง.มีความตระหนักตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกัน ว่าการตรวจสอบจะไปเป็นอุปสรรคให้หน่วยงานต่างๆ ไม่กล้าดำเนินการŽ” นายประจักษ์ ระบุ

สำหรับการใช้งบกองทุนตำบลนั้น ผู้ว่าการ สตง.ให้แนวทางไว้ว่า ให้เน้นถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะป้องกันโรคระบาดได้สำเร็จ โดยใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันหากมีข้อสงสัย ทาง สตง.ยินดีให้คำปรึกษาได้อย่างเต็มที่

นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม

สำหรับตัวอย่างการดำเนินงานของท้องถิ่นโดย นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต เล่าว่า พื้นที่นครรังสิตได้ใช้งบ กปท.ใน 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.กิจกรรมงานที่มีผลกระทบกับประชาชนในเชิงพื้นที่ 2.กิจกรรมที่ให้การสนับสนุนเครื่องมือ สร้างขวัญกำลังใจ และความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติในฐานะอาสาสมัคร 3.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้บุคลากรและเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ เทศบาลนครรังสิตใช้งบประมาณ กปท. ไปราว 6 ล้านบาท โดยในช่วงแรกได้เริ่มพัฒนาด้านการสอนวิธีทำหน้ากากอนามัย สร้างเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น การผลิตน้ำยาล้างมือแอลกอฮอล์ แจกจ่ายไปยังบุคลากรรวมถึงประชาชน เพื่อให้มีใช้ในช่วงแรกที่สินค้ามีราคาสูง ตลอดจนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เฝ้าระวังเชิงพื้นที่

จากนั้นได้มีการขับเคลื่อนลงไปเฉพาะกลุ่ม เช่น เฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อในกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีกว่า 2,000 คน หรือการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และพยาบาลลงไปเยี่ยมพร้อมมอบอุปกรณ์ป้องกันตัว ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพให้บริการที่ต้องสร้างมาตรฐานในการดูแลเพื่อป้องกันโรค เช่น วินรถตู้ หรือผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือในช่วงระยะหลังที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมคือ การรับข้อมูลองค์ความรู้เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ร้านตัดผม ที่ต้องเตรียมตัวอย่างไร เป็นต้น

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า จากการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยทำได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่มีการใช้กลไกต่างๆ และองคาพยพของท้องถิ่นที่ช่วยกระจายการจัดการเชื้อได้สำเร็จ

ดร.สาธิตกล่าวว่า กลไกสำคัญของ สธ.ที่มีและได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เองที่มองว่าเป็นระบบเครือข่ายที่เป็นต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น คือ อสม.ในการช่วยคัดกรองและควบคุมให้ตัวเลขการระบาดในต่างจังหวัดลดน้อยลง พิสูจน์ว่าความเชื่อในกระจายอำนาจเพื่อป้องกันโรคระบาดนั้นประสบความสำเร็จ

 

ในส่วนของ สธ.จำเป็นต้องดูว่าคนทำหน้างานต้องการความพร้อมในด้านใด รวมถึงหลักประกันในการดูแลขวัญและกำลังใจของทุกคนในหน้างาน โดยสำหรับ อสม. การขึ้นค่าป่วยการจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาล จึงมีการคิดเรื่องค่าฌาปนกิจสงเคราะห์แทนซึ่งเริ่มไปแล้ว และกองทุนในกรณีการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกับบริษัทเอกชน มั่นใจว่าภายใน 2 สัปดาห์จะรู้ผลŽ ดร.สาธิต ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image