“อสม.ตำบลบุญเรือง” ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งสกัด “โควิด-19”

สสส. หนุน “อสม. 1 ล้านคนทั่วประเทศ เคาะประตูบ้านต้านโควิด-19” ชู ต.บุญเรือง จ.เชียงราย ตัวอย่างกลไกชุมชนเข้มแข็ง

อสม.- เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายฤทธิ์ ช่างปัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วงเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พบว่าชาวบ้านที่ไปทำงานต่างจังหวัด เริ่มทยอยกันเดินทางกลับภูมิลำเนา รพ.สต.บุญเรือง จึงแก้ปัญหาด้วยการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ 124 คน กระจายกันรณรงค์สื่อสารคนในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยขอความร่วมมือผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับ “พักผ่อนอยู่บ้านตามอัธยาศัย แทนการใช้คำว่ากักตัว” พร้อมชี้แจงวิธีการดูแลตัวเองตามหลักสาธารณสุข หลังจากนั้น อสม. จะต้องเข้าไปเก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านทุกวัน ซึ่งเป็นข้อมูลการเดินทางเข้าออกของคนในชุมชน และข้อมูลสุขภาพที่ได้จากการตรวจวัดไข้ เพื่อนำส่งรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงราย โดยพบว่าตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการในเดือนกุมภาพันธ์ ยังไม่พบผู้ป่วยติดโควิด-19 แม้แต่รายเดียว แต่ในอนาคตหากพบผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับผลกระทบจากชุมชน ก็ได้เตรียมสถานที่ไว้รองรับแล้ว

นายฤทธิ์ ช่างปัด

“อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในตำบลไม่มีการจัดงานมหรสพทุกประเภทแล้ว ยกเว้นงานศพ แต่มีมาตรการจำกัดคนมาร่วมงานอย่างเคร่งครัด มีการวัดไข้ แจกอาหารจานเดียวแทนการกินข้าวร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มทำหน้ากากผ้ามัสลิน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสวัสดิการหมู่บ้าน จากกองทุนต่างๆ รวมถึงการรับบริจาค ตลอดจนปันเงินบางส่วนมาซื้อข้าวสารอาหารแห้งแจกจ่ายให้ผู้ที่ขาดแคลน และในส่วนของตลาดสด ได้ทำการฉีดล้างทำความสะอาด จัดระยะห่างคนซื้อคนขายตามหลักสาธารณสุข พร้อมกำชับให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้ามาภายในตลาด” นายฤทธิ์ กล่าว

ด้าน พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ต.บุญเรือง มีรูปแบบการสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ไลน์กลุ่มสื่อสารข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 เป็นไปตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคมที่ สสส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์อย่างเข้มข้นมาตลอด

Advertisement
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก

พญ.ขจีรัตน์ กล่าวว่า พบว่าชาวบ้านจำนวนมากถึงร้อยละ 90 เข้าใจวิธีการดูแลตัวเอง จนเกิดเป็นสโลแกนชุมชนที่ว่า “กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ ถือสันโดษ ไม่โทษใคร รีบไปรีบกลับ รับผิดชอบต่อสังคม” และเมื่อทุกคนเกิดความเข้าใจแล้ว มาตรการทางสังคมก็จะตามมา ในภายหลังพบว่าคนในชุมชนต่างทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา คอยแนะนำเตือนกันและกันหากมีใครเผลอลืม ซึ่งถือเป็นความยั่งยืนในการแก้ปัญหาที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

“ต.บุญเรือง คือแบบอย่างการทำงานให้กับ อสม. อีกกว่า 1 ล้านคน ใน 152 ตำบล จากโครงการตำบลจัดการสุขภาพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่ง สสส.ได้สนับสนุน สธ. ผ่านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนสร้างสุขโดยกลไกตำบลจัดการคุณภาพชีวิต แต่ล่าสุดได้ปรับรูปแบบโครงการตามสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของ “อสม. เคาะประตูบ้าน ต้านโควิด-19” โดย สสส. ได้จุดประกายให้เกิดนวัตกรรมทางความคิด และเกิดระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สสจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหารพราน ตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image