เช็กด่วน! อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ใน 8 สถานที่บริการพื้นที่กรุงเทพฯ

เช็กด่วน! อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ใน 8 สถานที่บริการพื้นที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติอนุมัติในหลักการการผ่อนปรน (คลายล็อก) 8 สถานที่บริการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แบบมีมาตรการควบคุมและหากมีรายใดฝ่าฝืนจะถูกสั่งปิดพร้อมต้องระวางโทษ

สำหรับ 8 สถานที่ มีรายละเอียด ดังนี้

 1.ร้านอาหาร ที่กล่าวถึงไม่รวมร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต จะพูดถึงร้านที่อยู่ด้านนอกห้าง จะให้มีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิพนักงานในร้านและลูกค้าผู้ที่เข้าไปใช้บริการทุกคน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1.5 เมตร  สำหรับการนั่งรับประทานอาหารในร้าน

งดให้บริการในลักษณะที่ให้ลูกค้าประกอบอาหารที่โต๊ะเอง เช่น ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง แต่สามารถสั่งมารับประทานได้ ไม่ให้นั่งประกอบอาหารเอง งดให้บริการบุฟเฟต์ที่มีไลน์อาหารให้ลูกค้าตักเอง หยิบเอง แต่สามารถให้สั่งจากรายการอาหารได้

Advertisement

งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดดื่มในร้าน เพื่อป้องกันกรณีไปหาซื้อจากภายนอกร้านมาดื่ม

งดการเล่นดนตรี หรือแสดงสด จัดให้มีฉากแผ่นใสกั้นระหว่างลูกค้าและอาหาร เช่น ร้านข้าวแกงต้องมีฉากกั้นให้เรียบร้อย ป้องกันไม่ให้มีละอองน้ำลายตกลงไปในอาหารหากมีการพูดคุย ต้องจัดให้อ่างล้างมือ มีสบู่ แอลกอฮอล์เจลล้างมือตามจุดต่างๆ ภายในร้านตามความเหมาะสม ต้องทำความสะอาดสุขาทุก 1 ชั่วโมง หากไม่สามารถปฏิบัติได้ต้องงดให้บริการสุขา

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญทางการแพทย์ เพราะสุขาเป็น 1 ใน 10 พื้นที่ที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรค เช่น หากมีอุจจาระเมื่อกดชักโครกอาจมีการกระเด็นเข้าหน้าได้ จึงต้องเน้นประเด็นนี้มาก ต้องทำความสะอาดโต๊ะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) น้ำยาฟอกขาว 0.1% ทุกครั้งเมื่อลูกค้าใช้บริการ ทำความสะอาดพื้น ทางเดิน ห้องน้ำ ราวบันได้ ลูกบิดจับประตู เคาน์เตอร์ ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

Advertisement

ร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศต้องมีมาตรการเปิด-ปิดร้านเป็นเวลา เพื่อเว้นช่วงเวลาทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง โดยให้ติดป้ายประกาศเวลาทำความสะอาดเป็นรอบๆ ไว้ที่หน้าร้าน เข้มงวดการทำความสะอาดภาชนะ ช้อน จาน ส้อม การเข้าแถวต่อซื้ออาหารหรือรอเข้าร้าน หรือคิวต้องมีการจัดแถว เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร โดยร้านค้าต้องทำสัญลักษณ์จุดยืนให้แก่ลูกค้า และให้พนักงานควบคุม จัดคิวให้มีการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด โดยควบคุมไม่ให้กระทบต่อทางเท้า และสถานที่ใกล้เคียง

ในส่วนของผู้ให้บริการ พนักงานในร้านต้องรวบผม สวมถุงมือ ผ้ากันเปื้อน หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และใส่เฟซชิลด์ หากพนักงานมีอาการป่วย มีไข้ ไอ อุณหภูมิในร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป ให้หยุดปฏิบัติงานและพบแพทย์ ผู้ปรุงต้องล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร พนักงานเสิร์ฟต้องล้างมือทุกครั้งก่อนเสิร์ฟอาหาร และควรใช้การพูดคุยในระดับเสียงปกติ ไม่ตะโกน ไม่เปิดหน้ากาก

ผู้รับบริการ/ลูกค้า ต้องรักษาสุขอนามัยล้างมือฟอกสบู่ก่อนและหลังใช้บริการในร้าน หากมีไข้ ไอ จาม เหนื่อยหรือหอบ ไม่ให้เข้าใช้บริการและควรไปพบแพทย์ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรณีที่ร้านไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวด้วย

ถ้าไปรับประทานเป็นครอบครัว แต่ต้องเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร จะทำอย่างไร คณะกรรมการฯ ไม่ได้ต้องการให้ไปรับประทานเป็นครอบครัว ต้องการให้แยกกัน ดังนั้นขอความร่วมมือผู้ที่จะไปเป็นครอบครัว ช่วงนี้อาจจะยังไม่ได้ ต้องทำตามมาตรการ โดยซื้อไปรับประทานที่บ้านก่อน สำหรับมาตรการนี้ ร้านอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และห้าง ก็ยังไม่ได้

2.ตลาด ผู้ดูแลต้องจำกัดจำนวนคนเข้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเว้นระยะห่างการเข้าใช้บริการ มีจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งผู้ขายและประชาชนก่อนเข้าไปใช้บริการซื้อสินค้า จุดทางเข้าออกตลาดต้องจัดให้มีที่ล้างมือ สบู่ แอลกอฮอล์เจล มีมาตรการเว้นระยะห่างในการเลือกซื้อสินค้า เว้นระยะห่างระหว่างร้านค้าให้มากกว่า 1.5 เมตร ทำความสะอาดตลาด ส้วมสาธารณะ และจุดที่มีการสัมผัสมากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เน้นย้ำผู้ขายและประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในตลาด งดให้บริการเครื่องเล่นเด็กที่อยู่ในตลาด เช่น บ้านลม ม้าหมุน ฯลฯ อาหารที่ปรุงสำเร็จ ให้ใช้อุปกรณ์ครอบอาหาร กล่องบรรจุ ทำฉากกั้นป้องกันการไอ จาม ละอองน้ำลาย เสมหะเข้าสู่อาหาร

ถามว่าทำไมต้องออกมาตรการ ในเมื่อตลาดเปิดอยู่แล้ว ต้องบอกว่าที่ผ่านมาไม่มีผลทางการกฎหมาย แต่ต่อไปนี้จะบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญตลาดจะกลับมาเปิดเต็มรูปแบบทั้งส่วนอาหาร วัตถุดิบ กิ๊ฟช้อป ดังนั้นจึงต้องเข้มงวดกับมาตรการ

3.ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย ต้องให้เฉพาะบริการตัด สระ ไดร์ เท่านั้น ต้องคัดกรองผู้ใช้บริการและพนักงานก่อนเข้าร้าน ให้บริการแบบไม่ต้องมีที่นั่งคอยในร้าน ให้นัดเวลาเข้าใช้บริการล่วงหน้า ป้องกันการนั่งคอยและรอคิว มีแอลกอฮอล์เจล เปิดเป็นรอบไม่เกิน 2 ชั่วโมง และให้พักทำความสะอาดไม่ต่ำกว่า 20 นาที มีคนถามว่าตัวเลขนี้เอามาจากไหน เราเอามาจากการใช้เวลาตัดผมเฉลี่ยของผู้ชาย ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ผู้หญิงไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ดังนั้นจึงกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เจ้าของร้านทำตารางลงเวลาทำความสะอาดไว้เป็นหลักฐาน จัดเก้าอี้ทำผมห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ได้แก่ เก้าอี้ กรรไกรตัดผม เตียงสระ ผมเช็ดผม หวี แบตตาเลี่ยน ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้ง ทำความสะอาดภายในร้าน และจดบันทึกผู้เข้าใช้บริการทุกคน หากเกิดมีการแพร่เชื้อจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ผู้ให้บริการ ต้องรวมผม สวมถุงมือ สวมหน้ากากและเฟซชิลด์ งดการบริการตัดขนจมูก จับลูบใบหน้าผู้ใช้บริการ ระหว่างสระผมผู้ใช้บริการต้องใช้หน้ากากกันสเปรย์ หลังใช้ผู้ให้บริการต้องทำความสะอาดทุกครั้ง หากมีไข้ ไอ จาม อุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาฯ ใหไปพบแพทย์ทันที ห้ามรับประทานอาหารภายในร้าน ส่วนพนักงานรับประทานหลังร้านได้ แต่ห้ามจับกลุ่ม

4.โรงพยาบาล/คลินิก/สถานพยาบาล ไม่รวมสถานเสริมความงาม คลินิกลดน้ำหนัก ใช้มาตรการเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5.สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อม ให้ตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ จัดเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง (คลับเฮ้าส์) ให้เดินเข้าออกทางเดียวเพื่อจำกัดบุคคล ร้านอาหารในคลับเฮ้าส์ใช้มาตรการเดียวกับร้านอาหารที่แถลงไปก่อนหน้านี้ จัดให้มีการล้างมือพร้อมสบู่ ไม่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มระหว่างเล่น ไม่จัดการแข่งขันทั้งแบบรายการและระหว่างบุคคล ทำความสะอาดพื้นที่ ห้องน้ำ ทำบันทึกรายชื่อ เบอร์ติดต่อ ผู้เข้าใช้บริการเพื่อให้ติดตามตัวได้ จัดนัดคิวเข้ารับบริการล่วงหน้า พนักงานต้องใช้หน้ากาก แคดดี้ต้องสวมหน้ากาก ทำความสะอาดรถกอล์ฟ และอุปกรณ์ อยู่ห่างจากผู้ใช้บริการ 1.5 เมตร ห้ามพนักงานสนามกอล์ฟจับกลุ่มหรือรวมกลุ่มกัน

6.สนามกีฬา เปิดได้ 3 ประเภท คือ สนามวิ่ง สนามเทนนิส สนามแบดมินตัน ทั้งนี้ขอให้ฟังจาก ศบค.หากมีการประกาศประเภทกีฬาเพิ่มเติม กทม.ก็จะประกาศเพิ่มต่อไป ต้องมีจุดคัดกรอง เข้าออกทางเดิน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เจล ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรการของ กทม. ห้ามจัดการแข่งขัน ห้ามรวมกลุ่มระหว่างเล่น จำกัดคนเข้าใช้บริการ ผู้เล่นต่อคอร์ทต่อสนาม ต้องไม่มีผู้เข้าชม ทำความสะอาดสถานที่ ห้องน้ำ ทำบันทึกผู้เข้าใช้บริการพร้อมเบอร์ติดต่อเพื่อให้ติดตามตัวได้ นัดคิว มีพนักงานควบคุม

7.สวนสาธารณะ ทั้งของรัฐและเอกชน ต้องมีจุดคัดกรอง เจลแอลกอฮอล์ จำกัดพื้นที่เข้าออก เว้นระยะห่าง ต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่มีการจับกลุ่ม เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน เดิน แบดมินตัน งดเว้นการออกกำลังกายที่มีการชุมนุม เช่น แอโรบิก รำมวยจีน ไทเก๊ก ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เครื่องเล่นต่างๆ เครื่องออกกำลังกายฟิตเนส ฯลฯ งดการจับกลุ่มชุมนุม นั่งคุย กินน้ำชา รับประทานอาหาร ให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจตรา ทำความสะอาดห้องน้ำ

8.ร้านตัดขนสุนัข จัดคัดกรองอุณหภูมิ งดบริการวอล์กอิน ต้องนัดหมาย จัดรอบให้บริการ ทำความสะอาด บริการจุดล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ แบบเดียวกันกับร้านทำผม ลงตารางเวลาทำความสะอาด บันทึกผู้เข้าใช้บริการ วัน เวลา เบอร์ติดต่อ และซักประวัติเข้าของสัตว์ว่าเคยป่วยโควิด-19 มาก่อนหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ ร้านจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และฟิตเนส ยังไม่ได้อยู่ในบัญชีสถานที่ที่ กทม.พิจารณาอนุญาตให้เปิดบริการ  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image