สธ.จ่อฟัน ‘รพ.-คลินิก’ อ้างฉีด ‘วัคซีน-วิตามิน-โอโซน’ ต้านโควิด-19 ชี้ไร้หลักฐานทางการแพทย์

สธ.จ่อฟัน ‘รพ.-คลินิก’ อ้างฉีด ‘วัคซีน-วิตามิน-โอโซน’ ต้านโควิด-19 ชี้ไร้หลักฐานทางการแพทย์

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ- เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ในปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่งแล้ว แต่ประชาชนบางรายก็อาจจะยังมีความวิตกกังวล ยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นจังหวัดที่มีการระบาดของโรคยิ่งเกิดความวิตกกังวล อยากจะหาวิธีการป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรค ทำให้สถานพยาบาลบางแห่งฉวยโอกาสจากความกลัวของประชาชน แอบอ้าง หรือทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริการของสถานพยาบาลว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน หรือรักษาอาการของโรคโควิด-19 อาทิ การให้บริการฉีดวัคซีน ฉีดวิตามิน หรือการให้โอโซน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง

นพ.ธเรศ กล่าวว่า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับบริการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย สบส.จึงได้ประชุมหารือร่วมกับ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทยสภา ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิฯ ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า การให้บริการ ฉีดวัคซีน ฉีดวิตามิน หรือการให้โอโซน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหรือต้านโรคโควิด-19 นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยที่ยืนยันได้แน่ชัด โดยปราศจากข้อโต้เถียงทางการแพทย์ว่าบริการทางการแพทย์ในลักษณะดังกล่าวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19

“ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการรับบริการเพราะอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ และการที่สถานพยาบาลชักชวนให้ประชาชนรับบริการ โดยอ้างว่าสามารถป้องกันโรคได้นั้น ยังถือว่าเป็นการโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริงอีกด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับโทษของผู้ที่กระทำการโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

Advertisement

“ขอเน้นย้ำกับประชาชนว่าการรับบริการทางการแพทย์ประเภทใดก็ตามจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าด่วนตัดสินใจด้วยคำโฆษณา หรือคำบอกเล่าจากบุคคลอื่น เพราะหากได้รับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานแล้วนอกจากจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ยังเป็นการเสียทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น อย่างกรณีข้างต้นเพียงประชาชนใส่ใจต่อพฤติกรรมสุขภาพ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออกจากที่พัก และล้างมือให้บ่อย ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์สินแต่อย่างใด” ทพ.อาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image