หมอกรมสุขภาพจิตแนะ “วัยทำงาน” ใช้ 5 พลังใจสร้างสรรค์ สู้ “โควิด-19”

หมอกรมสุขภาพจิตแนะ “วัยทำงาน” ใช้ 5 พลังใจสร้างสรรค์ สู้ “โควิด-19”

สุขภาพจิต- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง สถานการณ์วิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตวัยทำงาน ซึ่งล่าสุดพบว่าเริ่มมีการคิดสั้นในรูปแบบต่างๆ ว่า คนวัยแรงาน หรือ วัยทำงาน เป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่า เป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้แสดงออกถึงการยกย่องคุณประโยชน์ของคนวัยนี้ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ใน “วันแรงานแห่งชาติ” ตลอดมา

“แต่ปีนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบในทุกด้านของทุกประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ลดลงหรือขาดรายได้ บางรายต้องตกงาน เกิดความไม่มั่นคงในครอบครัว ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพจิตคนวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำให้เกิดความเครียด ความท้อ ความโดดเดี่ยว ความทุกข์ใจ” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.จุมภฎ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสรุปบทเรียนจากการก้าวผ่านวิกฤต โดยแนะนำว่า การก้าวผ่านสถานการณ์ในขณะนี้ ประเทศไทยต้องรับมือด้วย “5 พลังใจที่สร้างสรรค์” ดังนี้ 1.ตั้งสติ ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง เมื่อวิกฤตเข้ามาในชีวิต ตั้งสติให้ดีอย่าเพิ่งท้อใจหรือหมดหวัง 2.ปรับตัวและปรับใจ เผชิญกับปัญหาที่เข้ามา ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งปรับเปลี่ยนตัวเอง และปรับใจที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เข้ามาให้ดีขึ้น 3.สำรวจความสามารถของตนเองเรียนรู้หรือฝึกฝนได้ รวมทั้งหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4.หมั่นกระตุ้นพลังใจที่สร้างสรรค์ของตนเอง เพื่อสร้างความมุ่งมั่นให้กับตนเองที่จะก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้ และ 5.ส่งต่อพลังใจที่สร้างสรรค์ให้ผู้อื่น ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่ผ่านมาได้ เพื่อให้ผู้อื่นเกิดพลังใจหรือแม้แต่การให้ก็เป็นการสร้างพลังใจที่ดีเช่นกัน

“กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตและระบบสาธารณสุขต้องมีการติดตามดูแลจิตใจของประชาชนชาวไทย เนื่องจากในภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ประชาชนจะมีความวิตกกังวล เครียด กลัว เศร้า จะต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว ขณะเดียวกัน หากรู้สึกหมดพลังเครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323” นพ.จุมภฎ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image