สธ.นำร่อง “ปัตตานี” ไปสู่การแพทย์วิถีใหม่ เดือนหน้า เห็นรูปธรรมทั้งจังหวัด!

 สธ.นำร่อง “ปัตตานี” ไปสู่การแพทย์วิถีใหม่  เดือนหน้า เห็นรูปธรรมทั้งจังหวัด!

 

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวถึง “New Normal : การแพทย์วิถีใหม่ ประโยชน์ที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน ” ร่วมกับการใช้ระบบดิจิตอล  โดยจะเริ่มดำเนินการทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ  โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านองค์การอนามัยโลก(WHO)   ขณะนี้นำร่องใน จ.ปัตตานี  และจะมีการขยายผลการดำเนินงานต่อไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงาน 3 ประเด็น  ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ (2P Safety) โดยกรมการแพทย์ได้ทยอยออกโปรแกรม เช่น  โปรแกรม การผ่าตัดวิถีใหม่   ภายหลังจากที่มีสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ผู้ป่วย ที่มีนัดผ่าตัดและถูกเลื่อนนัดออกไป ขณะนี้แพทย์ จะทยอยเรียกกลับมาเพื่อทำการรักษา   โดยหลักปฏิบัติคือก่อนการผ่าตัดจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ในผู้ป่วย เป็นแนวทางปฏิบัติในระยะสั้น  เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล (รพ.) หรือ โปรแกรมฉุกเฉินวิธีใหม่ที่จัดทำร่วมกับแพทยสภา และคณะแพทย์ รวมถึง การทำทันตกรรม ทำฟัน ขณะนี้จะมีการเปิดให้บริการโดยจะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลายก่อนทำหัตถการ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เพิ่มระยะห่างทางสังคม  โดยลดความแออัดของการให้บริการที่ รพ. เน้น 2 กลวิธี คือ  1.จัดระบบบริการใหม่แยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน  ได้แก่ กลุ่มสีเขียวที่ดูแลตนเองได้ดี  อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดัน โดยจะมีพยาบาลประจำส่วนตัวในการบริหารจัดการนัดหมาย  เพื่อให้แพทย์มีเวลารักษาผู้ป่วยในกลุ่มถัดไปมากขึ้น

Advertisement

กลุ่มสีเหลืองที่ต้องการคำปรึกษาแพทย์ด้วยคำถาม/ปัญหาเล็กน้อย ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาระบบทางไกลได้ ซึ่งมีการดำเนินแล้วใน รพ.ต่างจังหวัด

กลุ่มสีแดงมีความจำเป็นต้องมา รพ. จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเวลาการนัดผู้ป่วย เช่น หากนัดเวลา 09:30 น. โดยช่วงเวลาก่อนหน้าเวลานัด จะไม่อนุญาตให้เข้าไปยังส่วนของสถานพยาบาลเพื่อลดความแออัด

2.กลวิธีพัฒนา  Digital Solution  ด้วยการนัดแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่น  เพื่อให้ผู้ป่วยมาตรงเวลานัด  และมีการดำเนินงานระหว่างแผนกของ รพ.ผ่านแอพพลิเคชั่นได้  โดยไม่ต้องใช้บัตร กระดาษ หรือเอกสารอื่น  แบงค์นะรวมถึงการชำระค่าบริการผ่านแอพพลิเคชั่น  การรับยาทางไปรษณีย์  ทั้งนี้เพื่อลดการสัมผัส รับและแพร่เชื้อ โควิด-19

Advertisement

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  การแพทย์วิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงบริการการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม   นอกจากนี้ผู้ป่วยติดเตียง จะมีผู้จัดการผู้ป่วย   บ้านและผู้ประสานงานผู้ป่วย ไปเยี่ยมถึงบ้าน  หากมีความจำเป็น จริงๆ จึงจะมา รพ. ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความจำเป็นเนื่องจากประเมินอาการที่บ้านได้

“ทั้งนี้กลวิธีหลักคือ  1.การจัดรูปแบบบริการวิถีใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย (Re-design Process : 3s) และ 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ  (Digital Solution ) ซึ่งจะเป็นตัวผลิกเกม เป็น วิธีที่ทำให้เราเข้าถึงการแพทย์วิถีใหม่ได้ จริงๆ โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงเดือนหน้า  จ.ปัตตานี จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน ทั้งจังหวัด  และอีก 12 เขตสุขภาพจะดำเนินการต่อในระยะปีหน้า  เพื่อให้เห็นภาพว่าการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องตั้งแต่โรงพยาบาลบ้านจนถึง  รพ.จังหวัดเป็นอย่างไร  รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลจะมีคลินิกทำฟันอย่างไร  ความชัดเจนจะเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม การแพทย์วิถีใหม่ ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยต้องชนะ การ์ดอย่าตก ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image