มหัศจรรย์! “กลางกรุง” ฝูง “นาก” โผล่-ไม่สูญพันธุ์

ตัวนาก สัตว์ป่าคุ้มครองที่มีสถานะใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที จำนวนประชากรในธรรมชาติค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง เนื่องจากถูกรุกรานจากมนุษย์ตลอดเวลา มีรายงานว่ามีขบวนการค้าลูกนากที่ลักลอบนำนากในธรรมชาติส่งไปขายต่างประเทศเพื่อไปแสดงในคาเฟ่นาก

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เผ่าพันธุ์ของพวกมันจึงเหลือน้อยเต็มที

แต่เราเจอเรื่องน่ายินดียิ่ง เมื่อได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนทวีธาภิเศก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โรงเรียนระดับมัธยม ที่มีข่าวว่ามีฝูงนาก ฝูงใหญ่อาศัยอยู่ โดยที่ครูและนักเรียนโรงเรียนนี้ต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี และดูแลพวกมันมาพักใหญ่แล้ว

Advertisement

ที่นั่น ครูศุภณัฐ กาหยี ครูสอนวิทยาศาสตร์ และผู้ทำการศึกษาดูแลฝูงนากฝูงนี้อย่างจริงจัง รออยู่

และครูได้นำทัวร์ดูพื้นที่ในโรงเรียน ซึ่งเดิมเป็นรังนาก มีนากอาศัยอยู่ประมาณ 3-5 ตัว และรอบๆ โรงเรียนอยู่ติดกับแหล่งน้ำ และเป็นพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาในธรรมชาติของชาวบ้าน

ครูศุภณัฐ เล่าว่า นับตั้งแต่เข้ามาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี 2556 และเห็นนากตัวแรกปี 2557 เป็นนากอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติข้างโรงเรียน รู้สึกตื่นเต้นมาก คิดว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ธรรมดา ไม่เคยคิดมาก่อนว่า กทม.จะมีนากในธรรมชาติได้ จึงพยายามให้นักเรียน ครู รวมไปถึงผู้ปกครองของนักเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจกับตัวนากมากยิ่งขึ้น

Advertisement

กระทั่งตั้งเป็นชมรมดูนากขึ้นในโรงเรียน รวมทั้งสร้างเพจ เพื่อให้คนนอกโรงเรียน และนอกพื้นที่ได้รู้จักตัวนากในพื้นที่นี้มากยิ่งขึ้น

“นากที่เราเฝ้าดูอยู่เป็นนากใหญ่ขนเรียบ พวกมันใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีในธรรมชาติ ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่มาอาศัยอยู่ใกล้โรงเรียนเราตั้งแต่ปี 2562 ครูตั้งกล้องและลองนับจำนวนประชากรตัวนาก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 นับได้ 15 ตัว ล่าสุดเริ่มนับในปีนี้นับได้ 8 ตัว แต่ไม่ได้ตกใจว่ามันหายไปไหน เพราะนากกลุ่มที่เจอล่าสุดเป็นนากวัยรุ่น และนากวัยผู้ใหญ่ คิดว่าน่าจะมีกลุ่มนากตัวเมียเลี้ยงดูลูกยังเล็ก และยังไม่ได้ออกมาให้เราเห็นอีกกลุ่มหนึ่ง น่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น เพราะพื้นที่ตรงนี้ไม่มีใครคิดร้ายกับนาก”Ž นายศุภณัฐ กล่าว

เรื่องนากอาศัยอยู่บริเวณชุมชน เคยมีปัญหาเรื่องนากไปกินปลาของชาวบ้านในบ่อเลี้ยงปลาบ้างหรือไม่นั้น

นายศุภณัฐ กล่าวว่า ไม่มีเพราะบ่อปลาที่ชาวบ้านทำอยู่เวลานี้เป็นบ่อปลาในธรรมชาติ ปริมาณปลาที่นากกินก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน หรือทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายมากนัก อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่า ไม่ได้มีคนรักนากทุกคน เคยได้ยินพื้นที่อื่นบริเวณชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังแล้วได้รับความเดือดร้อน เพราะมีนากเข้าไปขโมยปลาก็มี ได้แต่ขอร้องว่าอย่าทำร้ายนาก เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าครูจะแก้ปัญหาได้ อยากให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล โดยให้นากอยู่ได้ไม่สูญหายไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกัน ก็ให้ชาวบ้านเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาก็อยู่ได้ด้วย

นายนิกร (ขอสงวนนามสกุล) มีบ้านอยู่ติดกับคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ เขตหนองแขม ได้ร้องเรียนกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า ชาวบ้านริมฝั่งคลองกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากฝูงนาก มีราว 7-8 ตัว ที่ขึ้นมากินปลาในบ่อที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ แล้วถ่ายอุจจาระทิ้งไว้ ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งทั้งบ้านทุกวัน

”เคยเอากรงมาดักจับ เหมือนกรงดักหนู แต่ดักไม่เคยได้สักที พวกมันไวมาก เราก็ไม่คิดจะฆ่าจะแกงอะไรพวกมัน เพราะไม่อยากสร้างบาปกรรม แต่ปล่อยไว้มันก็ไม่ไหว บ้านพี่สาวอายุ 70 กว่าปี อยู่กับหลานสองคนนี้เดือดร้อนหนักเลย ตอนกลางคืนมันมาว่ายน้ำ 3-4 ตัว มาจากไหนก็ไม่รู้ เข้าไปกินปลา แล้วส่งเสียงร้องเอะอะโวยวายทั้งคืน นอนไม่หลับกันเลย อยู่ตรงนี้มา 70 ปี ไม่เคยเจอเลย กระทั่งต้นปี 2563 ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน ตอนแรกมีแค่ 3-4 ตัว แต่ตอนนี้มีมากกว่านั้นแล้ว น่าจะเป็นสิบ ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ไม่เป็นอันต้องทำอะไร ต้องคอยล้างขี้ล้างฉี่มัน กลิ่นก็เหม็นมาก ชาวบ้านแถวนี้โดนกันหมด เราจึงต้องแจ้งไปให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯมาช่วยจับ”Ž นายนิกร กล่าว

นายนิกร บอกด้วยว่า เพิ่งจะรู้เหมือนกันว่านากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ชาวบ้านแถบนี้หลายคนก็อาจจะไม่รู้ แต่เชื่อว่าถึงแม้จะไม่มีใครคิดฆ่า แต่คงจะไม่มีใครรัก เพราะมันไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้เลย นากฝูงนี้มั่นใจเลยว่าไม่ใช่นากในพื้นที่แน่นอน อาศัยอยู่ตรงนี้มานานไม่เคยเจอ คิดว่าคงมีคนเลี้ยง พอโตขึ้น รับกับพฤติกรรมมันไม่ไหว เลยเอามาปล่อย แล้วมันก็ขยายพันธุ์ในธรรมชาติ จนกระทั่งเพิ่มปริมาณ จาก 3 เป็น 10 กว่าตัวในตอนนี้ เคยเอากรงดักหนูมาดัก แต่ไม่เคยได้ เพราะมันเร็วมาก

ขณะที่นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่นำกรงมาดักจับนากเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านก่อน นากที่จับได้ก็จะนำไปดูแลที่สถานีช่วยเหลือสัตว์ป่าต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image