นักวิชาการอิสระเปิดข้อมูล รพ.รับเงิน ‘บริษัทยา’ มากถึง 186 แห่ง

นักวิชาการอิสระเปิดข้อมูล รพ.รับเงิน ‘บริษัทยา’ มากถึง 186 แห่ง ‘ปลัดสุขุม’ เผย 8 เดือนสอบข้อเท็จจริง ‘ผอ.ชาญชัย’ พบมีมูลสอบวินัยร้ายแรง

ความคืบหน้ากรณี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคำสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ขอนแก่น ไปปฏิบัติหน้าที่กองบริหารการสาธารณสุข สธ. เพื่อสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีปัญหารับเงินบริจาคบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการสอบสวนนั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ ผู้เคยทำงานในวงการบริษัทยาและโรงพยาบาล ได้บรรยายผลการสำรวจโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับเงินบริจาคจากบริษัทยาร้อยละ 5 ตามคำเชิญของ สธ.ว่า ที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลจากการสอบถามตัวแทนจำหน่ายยาเกี่ยวกับการประสานงานขายยากับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. โดยไม่ระบุชื่อโรงพยาบาล

นายมนูกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า หลังจากมีระเบียบเรื่องการห้ามโรงพยาบาลรับเงินบริจาคร้อยละ 5 ที่เชื่อมโยงว่ามีการเรียกเก็บเงินนั้น ในเดือนมีนาคม 2562 มีการเรียกรับเงินลดลง ซึ่งจากการสำรวจโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวม 786 แห่ง พบมีการรับเงินรวม 12 แห่ง ไม่รับเงิน 774 แห่ง แบ่งเป็น รพศ./รพท. สำรวจทั้งหมด 116 แห่ง พบรับเงิน 2 แห่ง ไม่รับเงิน 114 แห่ง ส่วน รพช. สำรวจ 670 แห่ง พบรับเงิน 10 แห่ง ไม่รับเงิน 660 แห่ง แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่ามีการเรียกเก็บรับเงินเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมทั้ง รพศ. รพท.และ รพช. พบเรียกเก็บเงินรวม 186 แห่ง และไม่รับเงิน 600 แห่ง แบ่งเป็น รพศ./รพท. พบรับเงินเพิ่ม 22 แห่ง ไม่รับเงิน 94 แห่ง ขณะที่ รพช. พบรับเงิน 164 แห่ง ไม่รับเงิน 506 แห่ง

Advertisement

“ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มกลับมาราวร้อยละ 23.70 ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหม่ หรือละเลยเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งวิธีการเรียกรับนั้น แม้ระบบจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวดขึ้น แต่จะมีการพูดคุยกับบริษัทยาว่าจะจ่ายร้อยละ 5 ได้หรือไม่ และจะระบุว่า หากไม่จ่าย โรงพยาบาลก็จะไม่จ่ายเงินค่ายา สิ่งเหล่านี้บริษัทยาก็ไม่อยากจะทำ เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า หากพนักงานขาย หรือผู้แทนยาไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท” นายมนูกล่าว และว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเสนอว่า สธ.และกรมบัญชีกลางควรหารือร่วมกันในการให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายเงินค่ายาและเวชภัณฑ์ไปยังบริษัทยาโดยตรง เพื่อลดการมาประสานระหว่างผู้แทนจำหน่ายยากับโรงพยาบาล

ด้าน นพ.สุขุมกล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว สธ.ได้รับเรื่องและพร้อมจะตรวจสอบทั้งหมดว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งปลัด สธ.ได้ยึดนโยบายเรื่องความโปร่งใส ปลอดทุจริต

“การรับเงินบริจาคลักษณะนี้ถือว่า ผิด ขัดระเบียบ ก็ต้องมีการตรวจสอบ ที่ผ่านมาก็เคยให้ข่าวไปแล้วว่า ได้มีการสอบสวนวินัยกับผู้บริหารระดับสูงที่มีความผิดประเด็นทุจริต ทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งพัวพันชัดเจนและดำเนินการไปแล้ว แต่คงไม่เอ่ยชื่อหรือเหตุการณ์ การทุจริตเรื่องการจัดซื้อยา เดิมเรียกว่า เปอร์เซ็นต์ยา เมื่อมีกฎหมายออกแล้ว จะรับส่วนนี้ไม่ได้เด็ดขาด หากรับจะมีความผิดอาญา และผิดกฎหมาย ป.ป.ช. โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทผู้ค้ายาทั้งในและนอกประเทศ ส่วนผู้แจ้งเบาะแสความทุจริตจะพิจารณาเป็นความดีความชอบพิเศษ เช่น เพิ่มเงินเดือน 2 ขั้น หรือ ร้อยละ 6″ นพ.สุขุมกล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ปลัด สธ.กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2562 และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ระดับ 10 เป็นประธาน และมีนิติกร เข้าไปตรวจสอบบัตรสนเท่ห์ แต่ยังไม่ได้ระบุว่ามีความผิด และได้สรุปในเดือนมิถุนายน 2563 ว่ามีมูล ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน  ไม่ใช่ว่าได้บัตรสนเท่ห์แล้วย้ายทันที

“การตั้งกรรมการต้องเปิดเผยให้ผู้ถูกร้องทราบ เพื่อนำเสนอหลักฐาน การที่บอกว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง เขียนในคำสั่งว่า มีผู้กล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง วันนี้ไม่ได้บอกว่าเขาผิด เพียงแต่ว่าเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา ต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน โดยจะต้องสอบผู้เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้สอบเพียงคนเดียว ส่วนเรื่องการร้องเรียนจะต้องร้องเรียนมาที่ผู้บังคับบัญชา หรือช่องทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต” นพ.สุขุมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีก่อนหน้านี้ได้ตรวจสอบโรงพยาบาล และพบการทำผิดระเบียบชัดเจนจนถึงลงโทษผู้อำนวยการไป 6 คน เกี่ยวกับเงินบริจาคหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า ไม่ขอพูดถึง ส่วนที่เหลือก็อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ แต่ขอไม่พูดรายละเอียด

เมื่อถามกรณีข้อมูลพบการรับเงินในส่วนของ รพศ./รพท. และ รพช.จะเปิดทางให้บุคลากรที่มีข้อมูลยื่นบัตรสนเท่ห์ร้องเรียน รพ.ด้วยหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีคนร้องเรียน ก็ทำงานเชิงรุกลงไปตรวจสอบอยู่แล้ว และจากเดิมเคยดูงบบำรุง งบประมาณ แต่จะดูงบสวัสดิการ งบมูลนิธิ จะไปดูให้มากขึ้นว่านำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความตั้งใจของผู้บริจาคด้วยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ฝ่ายตรวจสอบภายในก็รับนโยบายไป

ด้าน นพ.อภิชาติกล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรวม 5 คน ลงพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น อย่างน้อย 2 ครั้ง รวมทั้งมีพยานบุคคลมาให้การที่ สธ. มีการตรวจสอบพยานเอกสาร และให้เวลาผู้ถูกกล่าวหานำเอกสารมาอธิบาย พบว่าสำหรับเรื่องที่เป็นการรับเงินผลประโยชน์จากบริษัทยา มีมูลอันควรกล่าวหาที่เป็นวินัย ทั้งพยานบุคคลและเอกสาร คณะกรรมการจึงได้สรุปเสนอผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับ ยืนยันไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง ทุกคนทำงานด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรีของข้าราชการอย่างตรงไปตรงมา และทำตามกฎระเบียบของราชการทุกประการ

นายเสมอ กาฬภักดี นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สธ. กล่าวว่า การสืบสวนไม่ใช่การโต้ในที่สาธารณะเป็นความลับของราชการ หลักโดยทั่วไป เมื่อมีการกล่าวหา ซึ่งอาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ จะต้องมีการสืบสวนพิจารณาเบื้องต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ ประเด็นที่ถามว่า ทำไมบัตรสนเท่ห์ถึงรับพิจารณา ตามกฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 เขียนไว้แล้วถึงแม้ไม่ระบุชื่อผู้ถูกร้องเรียน แต่มีกรณีแวดล้อมพยานหลักฐานเบื้องต้นก็ให้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนพิจารณาเบื้องต้น คณะกรรมการได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งพยานบุคคลและเอกสาร เพื่อพิจารณาในแต่ละประเด็นที่ร้องเรียนต่างๆ ซึ่งมีหลายประเด็น คณะกรรมการได้พิจารณาแต่ละประเด็น มีทั้งเห็นควรยุติการให้ข้อสังเกต และเห็นว่ามีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง

“คำว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไม่ได้แปลว่าทำผิดในทันที แต่แปลว่า มีมูลที่ควรกล่าวหา ซึ่งเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย จะร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม ยังมีกระบวนการที่จะให้ความเป็นธรรมกับทางผู้ถูกกล่าวหา มีการสอบสวน การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงโต้แย้ง รวมทั้งการสอบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐาน ที่ทางผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างอิง กระบวนการทางวินัยจะไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่คณะสืบสวนหรือการแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยอย่างร้ายแรง ยังมีขั้นตอนในชั้นคณะสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา” นายเสมอกล่าว

นายเสมอกล่าวว่า หลักข้อกฎหมายเมื่อตั้งสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรรมการรับฟังคำชี้แจง สอบพยานมีความเห็นแล้วก็จะต้องเสนอความเห็นต่อผู้สั่งแต่งตั้ง คือปลัดฯ พิจารณา ถ้าเห็นว่าเรื่องนั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ยังลงโทษไม่ได้ ต้องเสนอให้อนุคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนของกระทรวงฯ (อ.ก.พ.) กระทรวง สธ. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นประธาน ซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาในสำนวนการสอบสวนว่าผิดหรือไม่ผิด ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง จะมีขั้นตอนของกฎหมาย หากสมมุติว่าไม่ผิด ก็สั่งยุติเรื่อง ถ้าผิดไม่ร้ายแรงก็ทำการลงโทษ เช่น ลดเงินเดือน ถ้าเห็นว่าผิดร้ายแรงก็ปลดออกหรือไล่ออก เมื่อมีคำสั่งปลดออกหรือไล่ออกผู้ถูกลงโทษก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้อีกภายใน 90 วันนับจากสร้างคำสั่ง แม้ อ.ก.พ.จะเห็นว่ามีความผิดทางวินัยอยู่ ผู้ถูกลงโทษก็ยังมีสิทธิขึ้นอำนาจศาล คือ กระบวนการยุติธรรมต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการทางด้านวินัยของคณะกรรมการตั้งแต่เริ่มร้องเรียนกล่าวหา สืบสวนตรวจสอบ พิจารณาเบื้องต้นหรือสอบวินัยอย่างร้ายแรง โดยจะมีขั้นตอนตามกฎหมายซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image